รอง ปธ.กมธ.ร่างงบฯ ขอให้ทบทวนการบริหารจัดการงบประมาณของงานดิจิทัล หลังคนใช้สมาร์ทโฟนจำนวนมาก มากกว่าอินเทอร์เน็ตแบบเดิมๆ
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะรองประธานกรรมาธิมาธิการ กล่าวในการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยได้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการทำงานในภาครัฐ แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณของกระทรวงดิจิทัล ซึ่งได้รับคำตอบจากปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนงานสรุปได้ดังนี้
ทุกวันนี้ ธุรกิจนานาชาติจะไม่ลงทุนใน Hardware เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้ของที่ซื้อล้าสมัย (obsolete) จึงพยายามใช้การเช่าบริการซึ่งจะเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ามากกว่า สำหรับโครงการเน็ตประชารัฐ หรืออินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน 24,700 แห่ง โดยสร้างสายไฟเบอร์ออปติกที่ได้จัดทำเสร็จตั้งแต่ปี 2560 นั้น ที่เป็นในส่วนของกระทรวงดีอี โดยไม่รวมส่วนของ กสทช. นอกเหนือจากเงินลงทุนเกือบหมื่นล้านบาท ยังมีใช้มีค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าไฟฟ้าและการบำรุงรักษาอีกปีละ 1,600 ล้านบาท ที่ยังตกค้าง ไม่ได้จ่ายทีโอที ในปี 2562-2563 รวมเป็นยอดหนี้รัฐบาลคงค้าง 2 ปี 3,275 ล้านบาท
รวมทั้งการตรวจงบรายจ่ายการติดตั้งและวัสดุคงเหลือก็ยังไม่เรียบร้อย ทำให้ สตง. ไม่ยอมรับรองงบของ TOT ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากในการควบรวมเป็น NT นอกจากนี้ ตัวเลขการใช้เน็ตประชารัฐมีอุปกรณ์ที่ใช้ผ่าน WiFi เพียง 2 ล้านเครื่อง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน smartphone ที่ใช้กันอยู่ 50 ล้านเครื่อง ทั่วประเทศ
ดังนั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากการใช้ smartphone ของไทยขยายตัวเร็วมาก เมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือแพร่หลายมาก ดังนั้น กระทรวงจึงควรทบทวนโครงการต่างๆ ให้ดี ว่า ทุกวันนี้ยังจำเป็นที่ต้องใช้เงินงบประมาณให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตแบบเดิมหรือไม่ แม้กระทั่งโครงการใหม่ๆ เช่น ดิจิทัลชุมชน หรือการ upgrade ICT ชุมชน สู่ดิจิทัลชุมชน ควรทบทวนว่ายังจำเป็นและเกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ และมีการทับซ้อนกับเน็ตประชารัฐหรือไม่แม้ว่า สดช. จะยืนยันว่าไม่มีงบค้างชำระแบบ เน็ตประชารัฐก็ตาม
สำหรับโครงการ cloud servers (GDCC) ใช้งบประมาณปีละกว่า 800 ล้านบาท โดยให้บริการแก่ส่วนราชการ GDCC มีการให้บริการแก่ 310 กรม 1,784 ระบบงาน ยังห่างจากที่ขอมา 4,037 ระบบงาน ซึ่ง สดช. อาจจะต้องเพิ่มขนาดของระบบอีกกว่า 3 เท่าตัว ทั้ง RAM และ Storage หากดำเนินการตามนี้จะทำให้ต้องใช้วงงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียวงเงินงบประมาณที่น่าจะใช้ในการลงทุนด้านอื่นๆ จึงขอฝากให้หน่วยงานและสำนักงบประมาณไปพิจารณา เช่น อาจให้การลงทุนส่วนนี้ให้ไปตั้งไว้ที่ NT หรือ TOT เพราะงานเหล่านี้ส่วนราชการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้วแทนที่รัฐบาลจะไปใช้งบประมาณเสียเองและกลับมาเป็นรายได้รัฐบาล
สำหรับโครงข่ายใยแก้วน้ำแสงใต้ทะเล (ASEAN Digital Hub) ใช้งบประมาณอีก 850 ล้านบาท เป็นโครงข่ายหลักที่เชื่อมมาจากยุโรปและต่อไปยังแปซิฟิกเทียบกับที่เคยมีการทำโครงการซับมารีนในอดีตที่เป็นเครือข่ายย่อยจากสิงคโปร์ แท้จริงเป็นการลงทุนเชิงธุรกิจ โครงการแรกมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำลงถึง 50% แต่เป็นการลดให้ผู้ใช้รายใหญ่ ที่ผ่านมา ประขาชนผู้ใช้รายย่อยอาจจะไม่ได้รับผลจากการลดราคา กระทรวง ควรคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย นอกจากนี้ หากโครงการดังกล่าวซึ่งต้องใช้เงินในงบ 65 อีกจำนวน 845 ล้านบาท หากมีผลตอบแทนสูงก็อาจจะโอนให้ NT ไปลงทุน จะได้ไม่เสียวงเงินงบประมาณ