ดีแทค ลุยขยายคลื่น 700 MHz ทั่วไทย ชูผู้ประกอบการรายย่อยนำประสบการณ์ใช้งานดีแทคจริงในมุมต่างๆ มาช่วยนำเสนอ พร้อมตั้งเป้าสิ้นปีขยายคลื่น 700 MHz ครบ 77 จังหวัด มากกว่า 900 อำเภอ จากปัจจุบันให้บริการแล้ว 717 อำเภอ
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมุ่งมั่นที่จะเชื่อมต่อลูกค้ากับสิ่งที่สำคัญที่สุดและเพิ่มศักยภาพให้สังคม การพัฒนาโครงข่ายของดีแทคต้องมุ่งสู่การเพิ่มประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า รวมทั้งสนับสนุนประเทศให้มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ที่สำคัญสัญญาณอินเทอร์เน็ตต้องสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน
ล่าสุด ขยายบริการ 5G คลื่น 700 MHz เพิ่มขึ้นอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และอุบลราชธานี จากเดิมให้บริการ 5G ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ดีแทคจะขยาย 5G ไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน มีสมาร์ทโฟนทั้งแอนดรอยด์ และ iOS ที่รองรับการใช้งาน 5G บนคลื่น 700 MHz ทั้งสิ้นจำนวน 51 รุ่น จากทั้งหมด 9 แบรนด์ ในประเทศไทย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 55 รุ่นภายในเดือนมิถุนายนนี้
การสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน (digital inclusion)
นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ดีแทคได้มุ่งมั่นในการนำสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกภูมิภาคทั่วไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้งานดิจิทัล
ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ยังระบุว่า ในปี พ.ศ.2562 อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและที่เกี่ยวข้องทั่วโลกได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็น 4.7% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยในปี พ.ศ.2567 จะเพิ่มประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็น 4.9% ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากการที่ประเทศต่างๆ ได้รับประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาผลผลิตที่ได้จากการเชื่อมต่อบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
สำหรับแคมเปญ ดีทั่วดีถึง#2 ได้นำแนวคิดการขยายคลื่น 700 MHz ที่ยกระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อทุกคนสู่ประสิทธิภาพการใช้งานของลูกค้า ผู้ค้ารายย่อย และผู้ประกอบการธุรกิจ โดยอาศัย 2 ปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Digital infrastructure) และปัจจัยด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy)
ทั้ง 2 ปัจจัยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างโอกาสให้ทุกคนในประเทศ ดีแทคจึงใช้จุดแข็งในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมสร้างคุณค่าร่วมกับทุกคนที่เกี่ยวข้องผ่านการทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์และใช้ได้จริงบนโลกออนไลน์
จากชุมชนที่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สู่การเข้าถึงออนไลน์ แน่นอนว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงยิ่งเพิ่มโอกาสและช่องทางให้ชุมชน ยังรวมถึงได้รับการฝึกฝนกับโครงการดีแทค “เน็ตทำกิน” ที่ดีแทคตั้งใจช่วยให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสามารถที่จะนำสินค้าขายผ่านตลาดออนไลน์ ทำให้จากเดิมการขายหน้าร้านที่ประสบปัญหาวิกฤตจากสภาพเศรษฐกิจ กลายเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงหมู่บ้านมาสร้างรายได้
โดยผู้ประกอบการรายย่อยบางรายสามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นอีก 70% และใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางเข้าถึงลูกค้า เช่น กล้วยอบหนึบ ซึ่งเป็นกล้วยปลอดสารพิษ จากแบรนด์กล้วยพรจากแม่ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสนธิวัฒน์” จำหน่ายน้ำพริกหอยนางรมรสแซ่บ เม็ดบัวอบกรอบแม่จรูญ ไข่เค็มกะทิ ครูกุ้ง กระเป๋าเชือกถักทำมือ และถุงย่ามลาหู่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ย่ามทอของพี่น้องชนเผ่าลาหู่แดง เป็นต้น