xs
xsm
sm
md
lg

ซูเปอร์โพลหนุน 120 วันเปิดประเทศ เชื่อมั่นทีมแพทย์ ห่วงลอบเข้าเมือง-สื่อสารไม่ตรงกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจเปิดประเทศใน 120 วัน ส่วนใหญ่เห็นด้วย เชื่อมั่นความสามารถบุคลากรทางการแพทย์ควบคุมโควิด-19 แต่ยังกังวลลักลอบเข้าเมือง สับสนหน่วยงานรัฐบาลสื่อสารไม่ตรงกัน แนะรัฐเข้มอย่าให้การ์ดตก

วันนี้ (20 มิ.ย.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการเปิดประเทศใน 120 วัน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,069 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 เห็นด้วยต่อการเปิดประเทศ ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หลังจากทุกคนได้วัคซีนเข็มแรก

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.9 เชื่อว่าความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ยังส่งผลดีต่อการควบคุมโควิด-19  ร้อยละ 92.7 ระบุเกิดการแพร่ระบาดที่ไหนให้ปิดเฉพาะพื้นที่นั้น ไม่ใช่ปิดทั้งประเทศ ร้อยละ 88.7 ระบุ ความตื่นตัวกระตือรือร้นป้องกันการแพร่ระบาดของภาคประชาชนกันเองในแต่ละพื้นที่ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศได้ตามที่กำหนด ร้อยละ 88.2 ระบุความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขไทยส่งผลดีต่อการควบคุมโรค และร้อยละ 86.9 ระบุนโยบายดีและมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาลจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศได้

ที่น่าเป็นห่วงคือ ความกังวลของประชาชนที่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.3 กังวลต่อการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แรงงานต่างชาติ เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย ร้อยละ 92.7 กังวลต่อการมั่วสุม พนัน เสพยาเสพติด แหล่งแพร่ระบาดโควิด-19 ร้อยละ 92.6 กังวลต่อสถานบันเทิงที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 91.6 กังวลต่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รุนแรงกว่าเดิมเข้าไทยอีก ร้อยละ 89.5 กังวลว่า วัคซีนมีไม่เพียงพอ ไม่ถึงเป้าหมายฉีดครบ ใน 120 วัน ร้อยละ 83.9 กังวลต่อการรวมตัวกันและชุมนุมทางการเมือง และร้อยละ 74.0 กังวลต่อประชาชนไม่มีวินัย การ์ดตก ไม่เคร่งครัดควบคุมโรค นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.9 สับสนในการสื่อสารของหน่วยงานรัฐไม่ตรงกัน ในขณะที่ร้อยละ 7.1 ไม่สับสน

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.4 ต้องการให้รัฐมีมาตรการเข้มงวดจริงจังแก้โควิด-19 และส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัย การ์ดไม่ตก ร้อยละ 94.9 ต้องการให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงต้นปี พ.ศ.2565 เพียงพอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และร้อยละ 84.7 ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาเด็กไทยเสียโอกาสทางการศึกษามาช่วงเวลาร่วม 2 ปี

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการเปิดประเทศ 120 วัน ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคโควิด-19 หลังจากทุกคนได้วัคซีนเข็มแรก และมีความต้องการได้เข็มสองภายในต้นปี ยังมีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขและความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ไทยในการควบคุมโรค โดยเห็นว่าเกิดการแพร่ระบาดที่ไหนให้ปิดเฉพาะพื้นที่ ไม่เหมารวมปิดทั้งประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อทุกคนและระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ความกระตือรือร้นป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐและภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันในการเปิดประเทศได้ตามที่กำหนด

“อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังกังวลในหลายเรื่องที่จะทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามสิ่งที่คาดหวังไว้ ได้แก่ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดกฎหมาย ทั้งการมั่วสุมพนัน แหล่งบันเทิงและยาเสพติดซึ่งเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค นอกจากนี้ ประชาชนยังกังวลถึงโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมเข้าไทยและวัคซีนมีไม่เพียงพอและฉีดไม่ครบเป้าหมายใน 120 วัน ขณะเดียวกัน การรวมตัวชุมนุมทางการเมืองและประชาชนไม่มีวินัย การ์ดตก ไม่เคร่งครัดควบคุมโรค ทั้งนี้ ยังมีประเด็นน่าสนในที่อาจถูกมองข้ามคือ การแก้ปัญหาเด็กไทยเสียโอกาสทางการศึกษาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และความสับสนของประชาชนต่อการสื่อสารของหน่วยงานรัฐที่ไม่ตรงกันที่ผ่านมา” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

ผอ.ซูเปอร์โพล ยังกล่าวต่อว่า เป้าหมายการเปิดประเทศ 120 วัน เป็นทั้งความหวัง ความเสี่ยงและความท้าทายร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไปต่อและเราทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ โดยยังคงมาตรการควบคุมโรค ที่ทุกฝ่ายต้องการ์ดไม่ตกและไม่ประมาท ความเสี่ยงร่วมกันจากข้อกังวลต่างๆ ถือเป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่และมีส่วนร่วมรับผิดชอบกันอย่างจริงจัง ทั้งนโยบายที่เข้มแข็งตรงเป้าของรัฐบาล ความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของภาคการเมือง ความจริงจังในหน้าที่ของทุกส่วนราชการ ภาคเอกชนที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน และที่สำคัญคือภาคประชาชนที่ต้องมีหน้าที่ มีส่วนร่วมและรับผิดชอบร่วมกัน โดยถือเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาตินับถอยหลัง 120 วัน ที่ทุกคนต้องมีหน้าที่และประเมินร่วมกันอย่างชัดเจน อีกทั้งการเยียวยาทางการศึกษาถือเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนสำคัญยิ่งที่สังคมต้องการให้รัฐเข้าไปดูแลและให้ความสำคัญ




กำลังโหลดความคิดเห็น