xs
xsm
sm
md
lg

“เชาว์” ชี้ กม.นิยามกว้างเปิดช่องหากินปมล่อซื้อน้ำส้ม ยกคำพิพากษาล่อซื้อร่วมกระทำผิดฟ้องไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตโฆษก ปชป. ชี้ 3 ประเด็นดรามาสรรพสามิตล่อซื้อน้ำส้ม มอง กม.นิยามโรงอุตสาหกรรมกว้างๆ เปิดช่องจนท.หาผลประโยชน์สุดใจดำ-โหดเหี้ยม ยกคำพิพากษาชี้คนล่อซื้อคือร่วมกระทำผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายที่ฟ้องได้ สงสัยทำเพราะเก็บยอดไม่ตรงเป้า

วันนี้ (17 มิ.ย.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง กรณีน้ำส้มสรรพสามิต “การล่อซื้อ” คือ วิธีผิดกฎหมาย มีเนื้อหาระบุว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่สรรพสามิต เข้าทำการจับกุมผู้ขายน้ำส้ม จำนวน 500 ขวด และมีการเรียกค่าปรับเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท จนกลายเป็นดรามาร้อนในโลกออนไลน์นั้น ในความเห็นของผม คิดว่ามี 3 ประเด็น ที่สังคมควรเรียนรู้จากเรื่องนี้

1. การผลิตเครื่องดื่มผลไม้ แค่ไหนถึงเข้าข่ายต้องเสียภาษีสรรพสามิต เรื่องนี้มี พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 เป็นตัวกำกับ โดยในกฎหมายฉบับนี้ให้คำนิยามคำว่า “โรงอุตสาหกรรม” ไว้อย่างกว้างๆ ว่า หมายถึง สถานที่ที่ใช้ในการผลิตสินค้า รวมตลอดทั้งบริเวณแห่งสถานที่นั้น ไม่ได้ระบุกำลังผลิตว่าต้องเป็นจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเรียกว่าเป็นโรงอุตสาหกรรม ส่วนคำว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรม ก็คือ เจ้าของโรงอุตสาหกรรมนั้น การกำหนดขอบเขตคำนิยามกว้างเช่นนี้ เสี่ยงต่อแสวงหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่นอกแถวได้โดยง่าย อีกทั้งต้องเข้าใจสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่มีอุตสาหกรรมครัวเรือนเกิดขึ้นมากในยุคโควิด-19 แพร่ระบาด คนตกงานต้องดิ้นรนทำกิน ด้วยการทำมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ รับคำสั่งซื้อผ่านโลกออนไลน์ อาจมีอุปกรณ์สำหรับการผลิต เช่น เครื่องบรรจุขวด ราคาแค่หลักพัน แต่ถูกนับเป็นเครื่องจักรสำหรับการผลิต ก็ไม่น่าจะถูกต้อง

2. กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการล่อสั่งให้ผลิตน้ำส้มจำนวน 500 ขวด หลังจากเจ้าของร้านผลิตแล้วจึงเข้าไปจับกุมรวบรวมหลักฐานอ้างว่ามีเครื่องจักรสำหรับการผลิต และขายส่งในปริมาณมากทุกวัน ซึ่งในวันนั้นถ้าไม่มีคำสั่งซื้อน้ำส้ม 500 ขวด ก็คงไม่มีการผลิตจำนวนมากขนาดนั้น เรื่องการล่อซื้อ มีคำพิพากษาศาลฎีกา ได้วางแนวเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า การล่อซื้อคือการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดผู้ล่อซื้อย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2553 คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีเนื้อหาโดยย่อว่า “การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้วเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำให้แก่ ส. มิใช่ทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ น่าเชื่อว่าการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้” พูดง่ายๆ คือ คนล่อซื้อก็คือคนที่ร่วมกระทำผิดนั่นเอง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีได้

3. ในมุมทางสังคม ผมคิดว่าการล่อซื้อเช่นนี้ เป็นพฤติกรรมที่ใจดำโหดร้ายเกินไป ทุกชีวิตยากลำบากอยู่แล้วกับปัญหาโรคระบาด ทำมาหากินก็ยากเย็นแสนเข็ญ ยังต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า กรมสรรพสามิต มีนโยบายสั่งการให้เจ้าหน้าที่รีดภาษีกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยแบบนี้ เพราะการจัดเก็บรายได้ไม่ตรงเป้าหรือไม่

“กรณีที่เกิดขึ้น กรมสรรพสามิตต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ไม่ใช่แค่การย้าย 5 เจ้าหน้าที่ออกนอกพื้นที่ แต่ควรบอกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า ผลิตเครื่องดื่มผลไม้ขนาดไหน จึงถือว่าเข้าข่ายต้องเสียภาษีสรรพสามิต แนวทางการล่อซื้อที่เจ้าหน้าที่ทำ มีกฎหมายอะไรมารองรับ จะกำชับเจ้าหน้าที่ของกรมฯไม่ให้เกิดเหตุรีดเลือดกับปู จนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าอย่างไร ผมเข้าใจดีว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องอยู่บนหลักนิติธรรม เพราะตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้ หากผู้ใช้กฎหมายไม่มีธรรมในใจ” นายเชาว์ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น