เพจ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพสามิต ว่า การล่อซื้อดังกล่าวมีความผิดเข้าข่ายมาตรา 157 หรือไม่ เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ชี้ แม่ค้าอาจมีช่องให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ได้
จากกรณีโซเชียลฯ แห่วิจารณ์ หลังแม่ค้าน้ำส้มดีใจหลังมีลูกค้าสั่ง 500 ขวด แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ระบุว่า หากขายน้ำส้มต้องมีใบอนุญาต และต้องเสียค่าปรับสูงถึง 12,000 บาท ต่อมา นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต และในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต ได้ออกมาชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า ได้รับแจ้งเบาะแสมีบางโรงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งกรมสรรพสามิตได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าทำการตรวจสอบ และได้ดำเนินการให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเข้าระบบและเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยผู้ขายน้ำส้ม ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน จำนวน 12,000 บาท ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
ล่าสุด วันนี้ (17 มิ.ย.) เพจ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” เป็นเพจที่ออกมาแฉเรื่องราวของเสาไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆ จนกลายเป็นประเด็นดรามาในโลกโซเชียลก่อนหน้านี้ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีแม่ค้าน้ำส้มถูกล่อซื้อ โดยได้นำข้อกฎหมายมาให้ชาวเน็ตพิจารณา ว่า
“มีข้อกฎหมายชวนพิจารณา
1. สั่งของแล้วไม่รับ บล็อกเฟซ แจ้งความดำเนินคดีได้ครับ จัดได้เลย
2. กรมฯ บอกว่าไม่ได้ปรับ ร้านบอกว่าเอาเงินไป 12,000 บาท ถ้าเอาไปไม่มีใบเสร็จอาจเข้าข่ายเรียกรับ + 157
3. ถ้าปรับจริง มึเอกสาร การสั่งซื้อเอง ปรับเอง เป็นการสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาโดยไม่สุจริต อาจ 157+ กลั่นแกล้งให้ได้รับโทษอาญา”
สำหรับมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต คือ
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรานี้แยกการกระทำเป็น 2 ความผิด คือ
1. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด คำว่า “โดยมิชอบ” หมายความถึง โดยมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานมีอยู่ตามกฎหมาย ดังเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2521 ที่วินิจฉัยว่า “การกระทำโดยมิชอบนั้น เฉพาะตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นโดยตรงที่ได้รับมอบให้มีหน้าที่นั้นๆ ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานแล้ว ย่อมไม่มีความผิด”
ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ไม่อยู่ในหน้าที่หรืออยู่ในหน้าที่แต่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยหน้าที่โดยสุจริต ก็ไม่เป็นความผิด ดังนั้น ถ้ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็เป็นการกระทำความผิดตามมาตรานี้
องค์ประกอบของความผิดมาตรานี้อยู่ที่ มูลเหตุชักจูงใจ คือ “มีเจตนาพิเศษ” ที่ต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งรวมถึงความเสียหายในทุกๆ ด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายที่เป็นทรัพย์สินเท่านั้น เช่น ความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเสียหายแก่เสรีภาพ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ที่กระทำผิดความฐานมีสุราผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง แล้วทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุม การทำร้ายนี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจขณะจับกุม แต่เป็นทำร้ายหลังการจับกุมแล้ว จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2479) แต่ถ้า เป็นพนักงานสอบสวน ในระหว่างสอบสวนไปทำร้ายผู้ต้องหาเพราะไม่ยอมรับสารภาพ เช่นนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อเกิดความเสียหายแก่เขาย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2508) หรือ เจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการออกใบสุทธิจดเปลี่ยนแปลงข้อความไม่ตรงกับความจริงและผิดระเบียบ เพื่อให้เขานำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาในการขอบำเหน็จความชอบนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายจึงมีความผิดตามมาตรานี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407-410/2509) เป็นต้น
2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
คำว่า “โดยทุจริต” ตามความหมายนี้ คือ การใช้อำนาจในหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น และที่สำคัญคือ “ต้องมีหน้าที่” คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นต้องอยู่ในหน้าที่ ดังนั้น หากไม่อยู่ในหน้าที่หรืออยู่ในหน้าที่แต่ทำโดยชอบและโดยสุจริต ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สามารถพบได้ในหลายกรณี เช่น พนักงานที่ดินไม่โอนที่ดินตามคำสั่งนายอำเภอ โดยทุจริตและอาจเสียหายแก่ผู้อื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2512) เจ้าพนักงานเทศบาลมีหน้าที่เก็บเงิน ลักเอาใบเสร็จเก็บค่ากระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อีกผู้หนึ่งไป เพื่อไปเรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าแล้วเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2503) หรือ นายตำรวจจับคนนำพลอยหนีภาษีไม่นำส่งดำเนินคดี เอาพลอยไว้เสียเอง เป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2525)
การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีลักษณะคล้ายคลึงกับการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หากการกระทำนั้นไม่เกิดความเสียหายแล้วย่อมจะไม่เป็นความผิดตามมารา 157 ในขณะที่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ แม้ไม่เกิดความเสียหายก็ยังคงถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้
อ่านประกอบข่าว - มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต...เป็นอย่างไร?