“เชาว์” ยกคำพูด “บิ๊กตู่” ปล่อยผู้ต้องหาแถลงสู้คดีใต้ถุนสภา กระตุก “สิระ” ทบทวนเรียก ตร.แจงคดีลุงพล เตือน อย่าใช้ กมธ.เปลี่ยนรูปคดี ซ้ำรอย คดีบอส อยู่วิทยา ทำสะเทือนทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ-กระบวนการยุติธรรมตั้งต้น ห่วง กมธ.ไม่รู้บทบาท แทรกแซงคดี ทำระบบถ่วงดุลเสียหาย ส่อผิด ม.157
วันนี้ (10 มิ.ย.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Chao Meekhuad” เรื่อง “คดีลุงพล” อย่าซ้ำรอย “คดีบอส” ใช้ฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนรูปคดี มีเนื้อหาระบุว่า ผมไม่แปลกใจที่เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตำหนิกลางสภาฯกรณีมีการเอาผู้ต้องหามาแถลงสู้คดีอยู่ใต้ถุนสภาฯ พร้อมตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นมุมเดียวกับที่ผมเป็นห่วง เป็นเรื่องที่ นายสิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ต้องเร่งทบทวน เพราะการใช้อาคารรัฐสภาเป็นเวทีให้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ พร้อมด้วย นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตน้องชมพู่ และ นางสมพร หลาบโพธิ์ หรือ ป้าแต๋น ภรรยา แถลงข่าวในการสู้คดีฆาตกรรมน้องชมพู่ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เรื่องในทางคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรไปก้าวล่วง ไม่เช่นนั้น ระบบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยจะเสียไป
ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการระบุชัดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 90 (1) กำหนดว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ทีเกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวนโยบายด้านกฎหมาย การยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
“จึงมีคำถามว่าเรื่องคดีลุงพลเข้าข่ายตามกรอบอำนาจหน้าที่นี้หรือไม่ เมื่อไม่เข้า จะดึงดันเดินหน้าไปเพื่ออะไร มีแต่ผลเสีย ไม่มีผลดีใดๆ เลย ถ้ายังมองภาพไม่ชัด ผมแนะให้ถอดบทเรียนคดีบอส อยู่วิทยา ที่ใช้ กมธ.กฎหมาย ยุค สนช.เป็นเครื่องมือ เปลี่ยนรูปคดีจนนำไปสู่ข้อกล่าวหาสมคบคิดเปลี่ยนสำนวน สะเทือนทั้งวงการนิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นมาแล้ว อย่าให้ซ้ำรอยอีกเลยครับ เพราะกรรมาธิการของสภาฯ ไม่ใช่เครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบทางคดีให้กับใครทั้งสิ้น รวมทั้งไม่มีอำนาจที่จะไปชี้ผิดชี้ถูกให้กับใครในคดีที่อยู่ในอำนาจสืบสวนสวบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งจะแทรกแซงไม่ได้ และการออกหมายจับก็เป็นดุลพินิจของศาลที่พิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏตามคำร้องขอออกหมายจับ ถ้านายษิทราเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ถูกต้อง นำพยานหลักฐานเป็นเท็จไปเสนอต่อศาลก็ชอบที่จะไปฟ้องร้องต่อศาลฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่ใช่มาร้องที่กรรมาธิการการกฎหมายฯ และถ้าใครปล่อยให้มีการใช้กรรมาธิการแบบนี้ คนนั้นก็มีความผิดตามมาตรา 157 เช่นกันครับ” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย