เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้อง สตง. สอบทีโออาร์ประมูลรถไฟทางคู่ขนาน สายเหนือ-สายอีสาน พบเอื้อประโยชน์ 5 บริษัทเอกชนรายใหญ่ ทำให้เสียประโยชน์ในเรื่องราคา เตรียมยื่น ป.ป.ช. สอบต่อ
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ขนาน ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ใน 2 เส้นทาง รวมระยะทาง 678 กิโลเมตร วงเงินกว่า 127,605 ล้านบาท แบ่งเป็น เส้นทางสายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราก-เชียงของ ระยะทาง 232 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท และเส้นทางสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร มูลค่าก่อนสร้าง 54,684 ล้านบาท
นายศรีสุวรรณ อ้างว่า การประมูลครั้งนี้พบพิรุธโดยมีการจัดทำทีโออาร์ในลักษณะล็อกสเปก เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายเท่านั้นให้เข้าสู่การประมูล ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเข้าร่วมการประมูลได้ ไม่สามารถแข่งขันให้ราคาถูกลง ส่งผลให้รัฐเสียประโยชน์นับหมื่นล้านบาท หากเทียบกับการเส้นทางรถไฟในพื้นที่ภาคใต้ ในปี 2560 ที่เขียนทีโออาร์ให้ผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถเข้าร่วมการประมูล จึงมีผู้เข้าร่วมประมูลมาก ทำให้รัฐได้ราคาถูกลง ประหยัดงบประมาณลงประมาณ 2-3 พันล้านบาท การที่ทีโออาร์ล็อกสเป็กให้เฉพาะ 5 บริษัทใหญ่ คือกำหนดให้บริษัทที่สามารถจะเข้าร่วมประมูลงานได้ต้องผ่านงานโครงการของรัฐร้อยละ 10 หรือไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ของมูลค่าโครงการ จึงทำให้ได้ราคาประมูลใกล้เคียงกับราคากลางที่กรมบัญชีกลางกำหนด เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล จึงมายื่นเรื่องต่อ สตง.ให้ตรวจสอบการจัดทำทีโออาร์ ว่าเอื้อต่อบริษัทใดหรือไม่
“สิ่งที่ผมได้รับรู้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้ คือ ก่อนที่จะมีการเปิดประมูล มีผู้กว้างขวางในจังหวัดบุรีรัมย์เรียกผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้ง 5 บริษัทไปพูดคุยกัน ตกลงกัน และก็จัดสรรปันส่วนแบ่งเค้กก่อน ในที่สุดผลประมูลออกมาทั้ง 5 บริษัทต่าง ชนะการประมูล รวมทั้ง 5 สัญญาไปคนละสัญญา ผมคิดว่าการประมูลครั้งนี้น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล โดยชัดเจน จึงต้องร้องต่อ สตง.ให้ไปตรวจสอบ ว่าการทำทีโออาร์หรือการเขียนทีโออาร์ในลักษณะนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียหาย”
นายศรีสุวรรณ ยังบอกว่า หากผลการตรวจสอบพบมีความผิดตามที่ร้อง ก็จะนำไปสู่การยกเลิกประมูลและจัดทำทีโออาร์ และจัดการประมูลขึ้นใหม่
นอกจากนี้ ยังระบุพิรุธการประมูล 2 โครงการ ว่า นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส. เคยออกมาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้แล้วว่า มี 5 บริษัทไปตกลงกับผู้กว้างขวางของจังหวัดบุรีรัมย์ ว่าจะจัดสรรปันส่วนให้ได้คนละสัญญา เมื่อเปิดซองประมูลทั้ง 2 สาย ก็ตรงตามที่ ส.ส. คนดังกล่าวออกมาให้ข้อมูล ทั้งนี้ทางสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะนำเอกฐานหลักฐานไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิดกับบุคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด