รอง หน.ปชป. แนะ ถอดบทเรียนเงินกู้ 1 ล้านล้าน วางแผนใช้เงินกู้รอบใหม่ 5 แสน ล. เบิกจ่ายเร็วทั่วถึง จัดลำดับความสำคัญเน้นจัดหาวัคซีนควบคู่ฟื้น ศก. โปร่งใสตรวจสอบได้ เตือนอย่าพลาดซ้ำ เพราะโอกาสกู้เพิ่มยาก เหตุหนี้สาธารณะจ่อทะลุเพดาน 60%
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังจะนำ พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้าน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ว่า เงินกู้ส่วนนี้ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1) แผนงานแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ 30,000 ล้าน 2) แผนงานช่วยเหลือเยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ 300,000 ล้าน 3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 170,000 ล้าน พ.ร.ก.เงินกู้นี้ ไม่ต่างจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น คำถามสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะพิจารณา พ.ร.ก. 500,000 ล้าน คือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่ผ่านมา มีปัญหาอะไรบ้างที่ควรจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับ พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้าน ได้แก่
การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ล่าช้า ใช้ไม่หมด และส่วนที่ใช้ไปนั้นไม่ได้แก้ปัญหาตามเป้าหมายที่กำหนด คือ การป้องกันและแก้ไขการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่จัดหาวัคซีนล่าช้า มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ การจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะรับรองผู้ป่วยล่าช้า การพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไม่เกิดผลสำเร็จเพราะโครงการที่นำเสนอไม่ได้ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว ส่วนการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนจัดทำได้ดีกว่าอีก 2 แผนงาน แต่กระนั้นก็มีปัญหาเรื่องความรวดเร็วและทั่วถึงประชาชนที่เดือดร้อน
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ประเด็นที่ พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้าน ที่ต้องพิจารณา คือ จะสามารถแก้ไขเรื่องความรวดเร็วและทั่วถึงของการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการที่เดือดร้อน การจัดหาวัคซีนจะรวดเร็วและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหรือไม่ และสุดท้ายคือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสามารถกำหนดแนวทางและเป้าหมายการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้สำเร็จผ่านโครงการอะไร ในเรื่องอะไร แค่ไหน ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุด คือ ปัญหาสำคัญของ พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 1 ล้านล้าน และ 500,000 ล้าน ไม่ได้อยู่ที่ว่าควรหรือไม่ควรกู้ เพราะทุกคนต่างเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องกู้เพื่อแก้ไขวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่ปัญหากลับไปอยู่ที่ “ขีดความสามารถทางการบริหาร” ของรัฐบาลว่าจะสามารถใช้เงินกู้นี้ให้ “ตรงเป้า รวดเร็ว โปร่งใส และเห็นผลสำเร็จ” มากน้อยแค่ไหน
“พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้าน จึงเป็นโอกาสอีกครั้งที่รัฐบาลจะแก้ไขข้อผิดพลาดของการบริหารเงินกู้ 1 ล้านล้าน และโอกาสที่จะกู้ครั้งที่ 3 คงจะยากแล้วเพราะเงินกู้เต็มวงเงิน 60% ของ GDP ประเทศ ที่กำหนดไว้เป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลังแล้ว ดังนั้น ผมจึงขอเอาใจช่วยให้รัฐบาลประสบความสำเร็จแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องตามเป้าหมายของ พ.ร.ก.เงินกู้นี้ครับ” นายกนก กล่าว