สตง.ชำแหละ! 3 ปี ประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะท้องถิ่น ยุครัฐบาล คสช. พบ 5 ข้อไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หลายแห่งจัดเก็บจริงสูงกว่าประมาณการรายได้ที่ตั้งไว้ แถมยังพบบางแห่ง ยอดรวม “ค่าธรรมเนียม” รายปี น้อยกว่า “ค่าบริหารขยะ” ปีละ 4 พันล้าน แถมเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้ หลายแห่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ถึง 20 ล้านบาท
วันนี้ (2 มิ.ย. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. จัดส่งรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีงบประมาณ 2562 ของกระทรวงมหาดไทย ถึงสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย
โดยรายงานดังกล่าว ระบุถึงผลการตรวจสอบ “หน่วยรับตรวจจัดเก็บรายได้หรือผลตอบแทน” ของ อปท. โดยพบว่า ส่วนใหญ่ดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา
“ผู้ว่าการ สตง. ได้มีหนังสือแจ้งข้อบกพร่องพร้อมทั้งข้อเสนอแนะไปยัง “หน่วยรับตรวจฯ” เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำหนดให้ สตง.จังหวัดและ สำนักตรวจสอบการเงินและบริหารพัสดุที่ 24 ดำเนินการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ ค่าธรรมเนียมการเก็บ และขนมูลฝอยของ อปท. ปีงบประมาณ 2562”
สตง. กำหนดเป้าหมาย ใน 71 อปท. จำแนกเป็น 11 เทศบาลนคร 58 เทศบาลเมือง 1 เทศบาลตำบล และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โดยคาดว่า การตรวจสอบนี้จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับนำไปใช้ในการบริการสาธารณะและพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
ในประเด็นการจัดทำงบประมาณ ส่วนใหญ่ 67 แห่ง มีการประมาณการรายได้ฯ ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะ “จำนวนครัวเรือน” ที่ อปท. ให้บริการเก็บและขนมูลฝอย พบว่ารายได้ที่จัดเก็บได้จริงไม่สัมพันธ์กับการจัดทำประมาณการรายได้
“เช่น อปท. 9 แห่ง มีการประมาณการรายได้ปีงบ 2562 ตํ่ากว่าปี 2561 แต่ปรากฏว่า อปท. 6 แห่ง ใน 9 แห่ง มีการจัดเก็บรายได้จริงสูงกว่า ประมาณการที่ตั้งไว้ โดยบางแห่งสูงมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งใน 6 แห่ง มี 4 แห่ง ที่รายได้ที่จัดเก็บได้จริงสูงกว่าปีที่ผ่านมาและสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้”
สำหรับในปีงบ 2562 พบว่า อปท. 51 แห่ง มีจำนวนครัวเรือนรับผิดชอบ รวม 3,824,184 ครัวเรือน สามารถให้บริการฯ 2,997,633 ครัวเรือน ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด มีครัวเรือนที่จ่ายค่าธรรมเนียม 2,355,728 ครัวเรือน ของจำนวนครัวเรือนที่ให้บริการ มีครัวเรือนที่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมฯ 641,905 ครัวเรือน
ส่วนอีก 20 อปท. ไม่สามารถระบุ จำนวนครัวเรือนที่ให้บริการฯ และจำนวนครัวเรือนที่สามารถจัดเก็บรายได้ ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอยได้
สำหรับประเด็นการจัดเก็บรายได้ฯ ของ อปท. 71 แห่ง พบว่า มีการจัดเก็บรายได้ฯ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดที่สำคัญจำนวน 5 ประการ โดยเฉพาะการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนคุมเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ “ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน”
ยังพบว่า การจัดเก็บไม่เป็นไปตามอัตราที่ประกาศในท้ายเทศบัญญัติ แถมไม่ครบถ้วนครอบคลุมทุกครัวเรือนที่ให้บริการ รวมถึงการจัดทำหลักฐานการรับเงิน มีรายละเอียดไม่ครบถ้วน/การนำล่งเงินไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือมีการบันทึกรายการบัญชีไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ครอบคลุมทุกประเภทของผู้รับบริการ
สตง. ยังพบความแตกต่างกันและไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ในการจัดเก็บรายได้ ค่าธรรมเนียม เช่น ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร ทั้งในข้อบัญญัติและเทศบัญญัติสำหรับใช้ในการจัดเก็บรายได้ฯ
“เช่น อัตราค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บ ประเภทมูลฝอยทั่วไป สำหรับบ้านเรือนตํ่าที่สุด พบว่า 31 อปท. กำหนดไว้ที่วันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาท และมี อปท. บางแห่ง ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตํ่าที่สุดเพียงเดือนละ 5 บาท ทั้งที่ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้งและการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 ได้มี การกำหนดค่าธรรมเนียม กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร ให้สามารถจัดเก็บได้ถึงเดือนละ 65 บาท”
นอกจากนี้ ยังพบว่า อปท. ส่วนใหญ่ 65 แห่ง ไม่ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บประเภทมูลฝอยติดเชื้อ และทุกแห่งไม่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ "ประเภทมูลฝอยที่เป็นพิษ/อันตรายจากชุมชน” ซึ่งมูลฝอยประเภทติดเชื้อและเป็นพิษ/อันตรายจากชุมชน
ยังพบว่า 58 อปท. ไม่ได้กำหนดอัตราค่าบริการกำจัดมูลฝอยไว้ และ 67 อปท. มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตดำเนินกิจการเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการเก็บและกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยทั่วไปเท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมในอนุญาตประเภทอื่นๆ เช่น การเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อหรือมูลฝอยที่เป็นพิษ
ยังมีตัวอย่าง ที่พบว่า อปท.ส่วนใหญ่มีการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขยัมูลฝอย ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการมูลฝอย
“ในปีงบประมาณ 2560-2562 พบว่า รายได้ค่าธรรมเนียมการจัดเก็บและขนมูลฝอย “น้อยกว่า” ค่าใช้จ่าย ค่าบริหารที่ใช้ในการเก็บและขนมูลฝอย ประมาณปีละ 4 พันล้านบาท หรือสามารถจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมได้ประมาณร้อยละ 17 ของค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอย ของ อปท. จำนวน 59 แห่ง พบว่า มี อปท. จำนวน 7 แห่ง ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ถึง 20 ล้านบาท
สตง. ยังมีข้อสังเกตถึง 71 แห่ง ได้แก่ ประเด็นการไม่นำลูกหนี้ด้างชำระมาตั้งเป็นลูกหนี้ ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2562, การไม่มีมาตรการ เร่งรัด ติดตามการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนมูลฝอย, การไม่มีการจัดทำประกาศ หรือการประชาสัมพันธ์ หรือหนังสือแจ้งให้ผู้ใช้บริการมาชำระค่าธรรมเนียม และการไม่มีการจัดทำรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านการดำเนินการจัดเก็บรายได้ฯ เป็นรายเดือน เพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
ล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) หน่วยงานกำกับ อปท. ได้จัดส่งข้อเสนอแนะจาก สตง. ถึง อปท.ทั่วประเทศให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขแล้ว