xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่าน พ.ร.ฎ.ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ มาใช้บังคับได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.ผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาใช้บังคับได้

วันนี้ (1 มิ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 มิ.ย. 2564 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้นำบทบัญญัติภายใต้มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ.....

ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาตรา 30 ได้บัญญัติว่า ระยะแรกมิให้นำส่วนที่ 3 ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในมาตรา 41-มาตรา 44/5 และส่วนที่ 4 ว่าด้วยการกำกับการประกอบกิจการ ในมาตรา 45-46 มาตรา 65(1) ตลอดจนมาตรา 78 มาตรา 83 วรรคสอง และมาตรา 84 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 และ มาตรา 16 มาตรา 27-มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาใช้บังคับ จนกว่าคณะกรรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว และเมื่อจะนำมาบังคับใช้ก็ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้นำบทบัญญัตินั้นมาใช้บังคับ

อย่างไรก็ตาม ก่อนเสนอยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำบทบัญญัติภายใต้มาตรา 30 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ กสทช.ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วนำข้อมูลและข้อคิดเห็นมาประกอบการยกร่าง พร้อมจัดทำแผนดำเนินการซึ่งได้พิจารณาความพร้อมทั้งด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค ด้านเศรษฐกิจแล้ว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กสทช. ได้ดำเนินการด้านต่างๆ จนมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติภายใต้มาตรา 30 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อที่ประชุม ครม.ในครั้งนี้
.
“หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับแล้ว จะมีผลต่อการอนุญาต การประกอบกิจการ และการกำกับดูแลเกี่ยวกับคลื่นความถี่ เพื่อให้การใช้ความถี่เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยใช้คลื่นความถี่ที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์จากการหลอมรวมคลื่นความถี่ ผู้ประกอบการก็สามารถพัฒนาหรือผลิตการให้บริการใหม่ๆ ที่หลากหลาย ตอบสนองความตอ้งการของประชาชน เป็นการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวยิ่งขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น