สภาฯ เปิด อภิปรายงบปี 65 นายกฯ ห่วงโควิด-19 ฉุด ศก.ปี 64 ไม่โตตามเป้า แจงยุทธศาสตร์ใช้งบ 6 ด้าน มั่นใจใช้งบโปร่งใส-พร้อมตรวจสอบได้ ขอสภาฯใช้เวลา 3 วัน อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประชาชน
วันนี้ (31 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ได้มีประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า การอภิปรายงบประมาณวาระแรก ใช้เวลา 3 วัน มีเวลาทั้งหมด 47 ชั่วโมง 30 นาที เป็นของฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 22 ชม . ประธานในที่ประชุม 3 ชั่วโมง 30 นาที การอภิปรายจะพิจารณาจนถึงเวลา 01.00 น.ของทุกวัน ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ชี้แจงว่า กังวลเรื่องประท้วงขัดจังหวะขอให้มีน้อยลง เพื่อบริหารจัดการเวลาให้ลงตัว ขอให้ประธานควบคุมด้วย
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล โดยดำเนินการให้สอดคล้องสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี2564 จะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปี2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดจะขยายตัวร้อยละ 4-5 ตามการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่าง ประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลคาดการณ์จะจัดเก็บรายได้ภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่นๆรวม 2.51 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ10.26 จากปีก่อน ส่วนหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564 มี 8.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.3 ของจีดีพี ยังอยู่ภายใต้กรอบตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ขณะที่สถานะเงินคงคลัง วันที่ 30 เม.ย. 2564 มีจำนวน 372,784 ล้านบาท รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรกและได้รับผล กระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้ ความสามารถการชำระหนี้ลดลง โดยสาระสำคัญงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 แบ่งเป็น 1. งบกลาง 571,047 ล้านบาท 2. งบประมาณร่ายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท 3. งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 208,177 ล้านบาท 4. งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 770,160 ล้านบาท 5. งบประมาณรายจ่ายเงินทุนหมุนเวียน 195,397 ล้านบาท 6. งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 297,631 ล้านบาท 7. งบประมาณราย จ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท 8. งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978.6 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคง 387,909 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ 2. ด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน 338,547 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การก่อสร้างทางหลวงชนบท การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของวงเงินงบประมาณ พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพ เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 119,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 เพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว 6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 559,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การส่งเสริมภาครัฐดิจิทัลโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชนการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลได้กลั่นกรองการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ จะเข้มงวด กวดขันป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณ พร้อมให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงประชาชนก็แจ้งข้อมูลมาได้ จะใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความโปร่งใส ทำเพื่อประชาชน เพื่อนาคตของลูกหลาน โดยใช้เวลาร่ายยาวการชี้แจงงบประมาณกว่า 1.30 ชั่วโมง