ทีมโฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เร่งเดินหน้าสร้างโอกาสให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ปลดล็อกปัญหาประเทศ พร้อมแจง 3 ประเด็น ที่เข้าใจคลาดเคลื่อน พร้อมใช้เวทีสภาฯสร้างความกระจ่างงบประมาณ 65
วันนี้ (23 พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาประเทศไทยต่อเนื่อง ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง หลังจากรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จ “ปลดธงแดง” ICAO ไทยถูกถอดจากรายชื่อประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) จาก ICAO หรือ ได้สำเร็จเมื่อ 6 ตุลาคม 2560 และสามารถปลด “ใบเหลืองการทำประมง IUU” ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จากประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์เลวร้ายที่สุด Tier 3 ให้อยู่ในระดับTier 2 ประเทศที่พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นลำดับที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี เป็นเครื่องยันความสำเร็จของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ปัญหาที่คั่งค้างมาอย่างยาวนาน
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังเดินหน้าแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนของชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปราบปรามยาเสพติดและการทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสการทำกินกับกลุ่มประชาชนฐานราก โดยเฉพาะเรื่องการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวม และอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้ดำเนินการจัดพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทากินให้ชุมชน ตั้งแต่ปี 2558-2564 จำนวน 1,071 พื้นที่ 71 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ ซึ่งมีการจัดคนลงในพื้นที่แล้ว 60,419 ราย ใน 285 พื้นที่ 66 จังหวัด รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎกติกาของบ้านเมืองที่สำคัญ ได้แก่ การปราบปรามผู้มีอิทธิพล อาวุธสงครามและสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนและสังคม ตลอดจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเอารัดเอาเปรียบในสังคม รวมทั้งเร่งวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้พ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยโมเดล BCG และเทคโนโลยี 5G ด้วย” โฆษกรัฐบาล กล่าว
ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 31 พ.ค.- 2 มิ.ย.ว่า ถือเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลพร้อมชี้แจงให้ข้อมูลถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณปี 65 และขณะเดียวกัน ส.ส.จะได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง หากการใช้เวลาอภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จึงขอชี้แจงดังนี้
1) การที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนปี 65 วงเงิน 624,399 ล้านบาท (20.14% ของงบประมาณรายจ่าย) น้อยกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท ไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ตามที่เข้าใจผิดกัน แม้กฎหมายได้กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาในวรรคสอง ของมาตรา 20 ด้วย ซึ่งกำหนดข้อยกเว้น กรณีที่การตั้งงบประมาณรายจ่ายไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งได้ ให้รัฐบาลแสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการในการแก้ไขต่อรัฐสภาพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย และเพื่อให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด ครม. เมื่อ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนขาดดุล และจะรายงานให้สภาฯได้ทราบ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศ ประกอบด้วย
1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP)
2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)
3. การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ
2) ข้อวิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในความเป็นจริง งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุขนั้น ยังมีในส่วนของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อรวมงบประมาณเข้าด้วยกันแล้ว ด้านการสาธารณสุขได้รับการจัดสรรมากกว่ากลาโหม กว่า 9.2 หมื่นล้านบาท
3) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเลขการรายงานเงินขาดทุนสะสมของธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่า 1.069 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่หนี้สาธารณะ ตามที่ไปลือกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของ ธปท. และเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของประเทศสมาชิก
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปีก่อน ที่กำหนดไว้ 3,285,962.5 ล้านบาท ประเด็นข้อสงสัยจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลพร้อมชี้แจงข้อมูลถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้งบประมาณแผ่นดินในแผนงานและโครงการต่างๆ รวมถึงความสอดคล้องต่อสถานการณ์ของประเทศ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ประเทศจะได้เดินหน้าบนพื้นฐานความเข้าใจ แม้อาจมีความเห็นต่างกันบ้าง