รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบยกเว้นภาษีอากรและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คาด สูญเสียรายได้ 12,000 ล้านบาท
วันนี้ (18 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีอากรและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 จึงเห็นควรออกมาตรการภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว
ทั้งนี้ จะมีการตรากฎหมาย 2 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้ คือ ฉบับแรก พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน พร้อมกันนี้ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินสำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
สำหรับฉบับที่ 2 เป็นกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งจะกำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ที่สถาบันการเงินได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประมาณการการสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้เป็นเงินจำนวน 12,000 ล้านบาท แต่จะมีประโยชน์ที่คุ้มค่าคือ ผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีภาระทางการเงินลดลงและมีโอกาสที่จะซื้อทรัพย์สินคืนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในราคาที่ไม่สูงเกินจริง เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง และยังลดโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะถูกกดราคาทรัพย์สินในกรณีที่มีความต้องการขายทรัพย์สินให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน