วันนี้ (6 พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ได้มีส่วนร่วมสนับสนุน การวิจัย การพัฒนา การผลิตและการกระจายวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
ทั้งนี้ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาค โดยสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หากเป็นบุคคลธรรมดาสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นๆแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว และกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่นๆ แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบริจาคทรัพย์สินให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสามารถบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า มาตรการภาษีดังกล่าวช่วยให้ประชาชนและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมสนับสนุนการวิจัย การพัฒนา การผลิต และการกระจายวัคซีนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ของประชาชนและให้ดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย