xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะจ่ายค่าทดแทนโครงการฝายหัวนา ศรีสะเกษ 62 ล.หนุนมาตรการรับมือฤดูฝน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ รวมทั้งสิ้น 104 แปลง เนื้อที่ 628 ไร่ เป็นเงิน 62 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 64 ป้องกันและลดความเสียหายจากภัยพิบัติในฤดูฝน
วันนี้ (18 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ รวมทั้งสิ้น 104 แปลง เนื้อที่ 628 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เป็นเงิน 62,078,662.50 บาท แบ่งเป็นกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิจำนวน 82 แปลง เนื้อที่ 422 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา ในอัตราไร่ละ 125,000 บาท เป็นเงิน 52,785,937.50 บาท และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิจำนวน 22 แปลง เนื้อที่ 206 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา ในอัตราไร่ละ 45,000 บาท เป็นเงิน 9,292,725 บาท โดยได้ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยในส่วนชของงบประมาณ กรมชลประทานจะปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2564 มาดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนให้

นอกจากนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบจากราษฎร ครม.จึงอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าทดแทน จ.ศรีสะเกษ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีรายละเอียดผลการตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลผู้มีสิทธิจำนวน 104 ราย และควบคุมการโอนจ่ายเงินให้ถูกต้องครบถ้วน โดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารจ่ายตรง ตามบัญชีรายชื่อบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการหรือทายาท พร้อมให้มีสิทธิได้รับการยกเว้นค่าภาษีเงินได้และภาษีอื่นๆ จากการขายหรือแบ่งขายที่ดินเฉพาะกรณีผู้ถูกเขตโครงการฝายหัวนาที่ยินยอมตกลงราคาซื้อขายที่ดินกับกรชลประทานและต้องเสียภาษีเงินได้

ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ป้องกัน และลดความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติในฤดูฝน ซึ่งประมาณการปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีปริมาณน้ำรวม 38,722 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 47 ของความจุ) และเมื่อเข้าฤดูฝนจะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 96,249 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำถึง 57,527 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น สทนช. จึงกำหนดแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน และมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ดำเนินการควบคู่กันไป โดยแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน กำหนดให้ใช้น้ำฝนในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แบ่งประเภทการใช้น้ำ ดังนี้ 1) การอุปโภคบริโภค รวม 3,429 ล้านลูกบาศก์เมตร 2) การรักษาระบบนิเวศ รวม 12,888 ล้านลูกบาศก์เมตร 3) การเกษตรกรรม รวม 78,905 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 4) การอุตสาหกรรม รวม 1,027 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ดังนี้ 1) ในเขตชลประทาน มีจำนวน 11.56 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่ 1 (นาปี) จำนวน 10.62 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 6.1 แสนไร่ และพืชผัก จำนวน 3.2 แสนไร่ 2)นอกเขตชลประทาน มีจำนวน 61.49 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่1 (นาปี) จำนวน 48.95 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 11.75 ล้านไร่ และพืชผัก จำนวน 7.9 แสนไร่

สำหรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ประกอบด้วย 10 มาตรการ ดังนี้ 1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ โดยปรับปรุงข้อมูลทุกสิ้นเดือน 2) บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 15 สิงหาคม 2564 3) ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 เมษายน 2564 4) ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และระบบระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานภายใน 30 มิถุนายน 2564 5) ปรับปรุงและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 6)ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 7) เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 8) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำตลอดระยะเวลาฤดูฝน 9) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน 10) ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น