xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เพิ่ม 2 พันโครงการเยียวยา เคาะคนละครึ่งเฟส 3 เปิดโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ลดค่าน้ำไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐ เผย ครม.อนุมัติเพิ่ม 2 พัน โครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน เห็นชอบคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมเปิดตัวโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ หนุน E-Voucher 7 พันต่อคน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ปชช. อนุมัติลดค่าน้ำ-ค่าไฟ พ.ค.- มิ.ย. 64

วันนี้ (5 พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน กรอบวงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท โดยขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประกันตนใน “โครงการ ม 33 เรารักกัน” จำนวนกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 9.27 ล้านคน กรอบวงเงิน 18,500 ล้านบาท โดยประมาณ และผู้มีสิทธิใน “โครงการเราชนะ” มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการจะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 2564 นี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยว่า คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบมาตรการในระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง โดยมีกรอบวงเงินเบื้องต้น 140,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการเบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ที่ยังคงเหลืออยู่ดังนี้

1. มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 13.65 ล้านคน โดยช่วยลดภาระค่าครองชีพเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.- ธ.ค.) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 2.4 ล้านคน เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.- ธ.ค.)

2. มาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง ได้แก่ มาตรการ “คนละครึ่งระยะที่ 3” (Co-pay) ระหว่างรัฐกับประชาชน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิใช้จ่ายที่รัฐจะสมทบได้วันละไม่เกิน 150 บาท วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งดี” โดยรัฐบาลจะสนับสนุน E-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยภาครัฐจะสนับสนุน E-Voucher ในช่วง ก.ค.- ธ.ค .2564 โดยคาดว่าประชาชนจะเข้าโครงการประมาณ 4 ล้านคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการขนาดเล็ก

- ค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้
(1) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
(2) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
- กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
- กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ (1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 (2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 50 และ (3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
2.2) ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2564

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการ ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น