xs
xsm
sm
md
lg

เยียวยาที่ไม่เยียวยา รัฐบาลลดค่าไฟใช้ฐานเดือน เม.ย.คำนวณ ชาวเน็ตโห่แพงกว่าเดือนอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวเน็ตโห่ มติ ครม. ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน แต่ใช้เดือน เม.ย. 2564 เป็นฐานคิดคำนวณลดค่าไฟฟ้า ทั้งที่เดือนที่แล้วค่าไฟพุ่งกระฉูด เพราะอากาศร้อน ถามช่วยหรือซ้ำเติมประชาชน


วันนี้ (5 พ.ค.) จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนในระยะเร่งด่วน โดยกำหนดให้ลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการเดิมที่เคยดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2564 ซึ่งการลดค่าไฟฟ้าครั้งนี้จะมีผล 2 เดือน ในรอบบิลเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 โดยใช้เดือน เม.ย. 2564 เป็นเดือนฐานในการคิดคำนวณลดค่าไฟฟ้านั้น

เฟซบุ๊ก “รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล” ของ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์อินโฟกราฟิกหัวข้อ “ครม.เคาะมาตรการช่วยลดค่าน้ำ-ค่าไฟ” ระบุว่า “ครม. อนุมัติมาตรการเร่งด่วนบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ด้วยการลดค่าไฟและค่า ครอบคลุมทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ มีรายละเอียดดังนี้

มาตรการช่วยค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ฟรี 90 หน่วยแรก ถ้าใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1) กรณีที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง

2) กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่าบิลค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้

- ไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของบิล เม.ย. 64

- มากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของบิลเดือน เม.ย. 64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากบิล เม.ย. 64 ในอัตราร้อยละ 50 ก่อน VAT

- มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของบิลเดือน เม.ย. 64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากบิล เม.ย. 64 ในอัตราร้อยละ 70 ก่อน VAT

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก

สำหรับมาตรการช่วยค่าน้ำประปา โดยลดค่าน้ำประปาร้อยละ 10 เฉพาะบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน ของใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564”

ปรากฏว่า ได้มีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นตำหนิรัฐบาล มองว่า ค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาแพงเท่าตัว หากเทียบเดือนที่ค่าไฟแพงแล้ว เหมือนไม่ได้ช่วยลดค่าไฟฟ้าเลย จึงตั้งคำถามว่ารัฐบาลช่วยประชาชน หรือซ้ำเติมประชาชน โดยมีความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ

“ฝากแง่คิดนะครับ 1. เริ่ม WFH (Work From Home) เดือนเมษายนกันหมด ค่าไฟเดือนเมษายนก็พุ่งขึ้นเป็นเดือนแรกอยู่แล้ว 2. หลังเดือนเมษายน ถ้ายัง WFH เหมือนเดิม ค่าไฟก็ไม่ต่างจากเดือนเมษายนอยู่แล้ว (ไม่พูดถึงเรื่องอากาศร้อนนะครับ เป็นเรื่องธรรมชาติ) แล้วจะเอาค่าไฟที่พุ่งขึ้นเดือนแรกมาเป็นมาตรฐาน ... เดือนหลังๆ ก็ใช้ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่หรอกครับ

การช่วยเหลือนี้ น่าจะเข้าถึงได้สำหรับคนรายได้น้อย บ้านเครื่องใช้ไฟฟ้าน้อย เดือนนึงไม่ถึง 90-150 หน่วย และผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้ไฟมากกว่าปกติแต่ยังไม่เท่ากับพวกโรงงาน เช่น ออฟฟิศเล็กๆ ส่วนประชาชน ชนชั้นกลางที่มีรายได้ระดับกลางๆ อยู่เป็นครอบครัว บ้านเดี่ยว น่าจะแทบไม่ได้แตะมาตรการนี้เลยครับ

หากใช้ค่าไฟจากเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ยังไม่ได้ WFH เอามาตั้งต้น เพื่อคิดหาสัดส่วนที่เหมาะสมที่จะช่วยเหลือ เนื่องจากถ้าเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย วิธีการหรือรายละเอียดบางอย่างอาจจะต้องเปลี่ยนตามเพื่อความเหมาะสม

ความคิดเห็นส่วนตัว ผมว่าน่าจะมีกลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยได้มากกว่านี้ครับ อาจจะได้การช่วยเหลือต่อคน ไม่มากเท่าไหร่ แต่น่าจะทั่วถึงครับ (หากยังมีข้อบกพร่องในรายละเอียดความคิดอย่างไรต้องขออภัยด้วยนะครับ)”

“ควรใช้ฐานคำนวณเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือนครับ เพราะ เม.ย. แพงที่สุดในรอบปี จากฐานข้อมูลที่มีอยู่จริง”

“เทียบเดือนเมษายน เหมือนไม่ได้ช่วย เมืองไทยเมษายนมันหน้าร้อนค่าไฟพุ่ง สมงสมอง”

“เทียบกับเดือนเมษายน คิดได้ไง เพราะมันจะเป็นเดือนที่ใช้มากที่สุด”

“ไม่ใช่ลดช่วยตอนนี้เดือนต่อมาค่าไฟโคตรแพง”

“ค่าไฟเดือนเมษายนขึ้นมาเท่าตัวค่ะ ทำไมไม่เอาฐานเดือนมีนาคม”

“เหมือนไม่ได้ช่วยครับ เดือนเมษายน อยู่บ้าน ค่าไฟแพงกว่าทุกเดือนที่ผ่านมา”

“ค่าไฟที่อยู่อาศัยใช้ไฟเกิน 150 หน่วย ช่วยอย่างนี้ไม่ช่วยยังดีกว่า เพราะเอาค่าไฟเดือนเมษายนมาเป็นตัวชี้วัด ไฟช่วงนั้นทุกบ้านใช้เพิ่ม เพราะอากาศร้อน เท่ากับรับว่ารัฐไม่มีความจริงใจที่จะช่วยครอบครัวที่ใช้เกิน 15-190 หน่วย”

“ใช้ฐานเดือนเมษายน แล้วเริ่มคิดแบบเทียบเดือนไหนก็ไม่บอกละคะ เริ่มพฤษภาคมเลยหรือเปล่า สงสัยต้องไปตามอ่านในเพจ กฟน. (การไฟฟ้านครหลวง) จะละเอียดกว่า รอบที่แล้ว. กฟน แจงมาเลย ลงลึกถึงวันจดรอบบิล”

“เดือนเมษายนค่าไฟแพงกว่าทุกเดือน คิดได้เนอะ แบบนี้เหรอช่วยประชาชน ซ้ำเติมมากกว่ามั้ง”

“เดือนเมษายนค่าไฟแพงสุดละ แน่ใจนะว่าจะข่วยลดภาระจริง ดูเหมือนโดนหลอกยังไงไม่รู้”

“เดือนเมษายน 64 หยุดยาวหลายวัน โควิดมา อยู่บ้าน ค่าไฟคงแพงกว่าทุกเดือน ครับท่านๆ คิดผิดคิดใหม่ได้”

อนึ่ง ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี สาเหตุที่ค่าไฟแพงขึ้น ทั้งที่ใช้งานเท่าเดิม เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็นต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อพยายามปรับความอุณหภูมิให้ต่ำลง กล่าวคือ ในช่วงฤดูปกติ อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25-27 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 36-40 องศาเซลเซียส หากตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส จะพบว่าในช่วงฤดูร้อนเครื่องทำความเย็นจะทำงานหนักมากขึ้น เพื่อปรับลดอุณหภูมิจาก 40 องศาเซลเซียสให้ถึงอุณหภูมิ 25 องศา ที่ตั้งไว้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น