เล่นแรง! “3 นิ้ว” ปลุกล่าแม่มด ผู้พิพากษา-ลูกชาย “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ชี้ อดข้าวประท้วง สู้ผิดแนวทาง เตือนละเมิดอำนาจศาล “ชาญวิทย์” เตรียมร้องศาล รธน. “อธิบดีศาลฯ” แจงชัด เหตุ “กวิ้น” กับพวก ไม่ได้ประกัน
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 เม.ย. 64) ภายหลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” พร้อมพวกอีก 6 คน ประกอบด้วย นายอานนท์ นําภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง, นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ จัสติน และ นายปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท วงไฟเย็น เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา
ต่อมามีความเคลื่อนไหวบนโซเชียลฯ โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” หรือ 3 นิ้ว ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับจำเลยทั้ง 7 คน เช่น ทวิตเตอร์ @FreeYOUTHth หรือ “เยาวชนปลดแอก” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3.6 แสนบัญชีทวิตเตอร์ ได้โพสต์ประวัติผู้พิพากษาที่ตัดสินไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 7 คน ทั้งยังโพสต์รูปภาพบุตรชายของผู้พิพากษาท่านนี้ด้วย
ขณะที่ ทวิตเตอร์ @jjookklong3 หรือ “เจ๊จุก คลองสาม” โพสต์ข้อความว่า
“เจ๊จะบอกให้ เมื่อวานพวกมันรู้อยู่แล้วว่า จะไม่ได้ประกันตัว แค่เอาเรื่อง...กำลังจะตายไปขอปล่อย 7 คน มันก็ดูแปลกแล้ว แต่สิ่งที่มันต้องการ คือ ปลุกม็อบให้กดดันศาลแต่ก็แป้ก เลยหันมาใช้วิธีชั่วๆ คือ คุกคามคนในครอบครัวของศาล อย่ามาโอดโอยว่า ตร.คุกคาม ตอนที่เขาไปหาพวกมึงที่บ้านละกัน คะ” (จากไทยโพสต์)
ขณะเดียวกัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“อย่าละเมิดอำนาจศาล
เมื่อวานนี้มีคนไปชุมนุมหน้าที่ทำการศาลยุติธรรม เรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนเรา ให้ผู้พิพากษาลงมารับหนังสือข้อเรียกร้อง
อ้างเป็นฟางเส้นสุดท้ายต้องได้รับการประกันตัว ให้ผู้พิพากษาใช้ความรู้สึกในการให้ประกันตัว
ตกลงบ้านเมืองนี้ปกครองกันด้วยความรู้สึก ไม่ต้องยึดหลักกฎหมายใดๆ ไม่ต้องเคารพกฎหมาย ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย
หากผู้พิพากษาตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ยอมให้ประกันตัว ความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมจะอยู่ตรงไหน
ไม่มีใครบังคับให้อดอาหาร หากรักลูกจริง บอกลูกเลิกอดอาหาร จะตายเปล่า อย่าต่อสู้ผิดแนวทาง ความรุนแรง การข่มขู่ มันไม่ได้ผล ตายประชดป่าช้าเปล่าๆ
ประการสำคัญ คนประท้วงหมิ่น และละเมิดเลิกอำนาจศาลนะ”
ด้าน เฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri ของ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรม โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“มีคนฝากมา ฝากไปหารือกันว่า นำเอาเรื่องที่ศาลอาญา ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ถูกกล่าวหา ไปร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วันนี้ นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราว กรณียกคำร้องเเกนนำม็อบราษฎรหลายครั้งว่า
การปล่อยชั่วคราวตามสิทธิสามารถกระทำได้ตลอด แต่ต้องดู ป.วิอาญา เกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวว่า ก่อนหน้านี้ ที่ศาลไม่ให้ประกันเป็นเพราะอะไร เพราะที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันก่อนหน้านี้ เพราะว่าเราพิจารณาตามลักษณะภาพและการกระทำ พฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนในคดีที่ถูกฟ้องว่าได้กระทำอะไรบ้าง จึงไม่อนุญาต โดยอาศัยหลักตามมาตรา 108/1 ที่ว่าหากให้ประกันแล้ว เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น
“โดยเหตุนี้มีความหมายว่า เป็นเรื่องที่เคยกระทำมาแล้ว แล้วจะกลับไปกระทำอีก ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อยื่นฟ้องมาเเล้วว่า คุณทำอย่างนี้ ปล่อยคุณไปก็ไปกระทำอีก อันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่นก็ได้ หรือเป็นเหตุอันตรายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ คือ ไปก่อเรื่องอื่นที่ผิดกฎหมายเรื่องอื่น อันนี้ก็อยู่ในนัยยะคำนี้ ศาลก็พิจารณาถึงข้อนี้จึงไม่อนุญาตไป” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาระบุ
นายสิทธิโชติ กล่าวอีกว่า การขอประกันครั้งต่อไป จึงต้องดูว่า สิ่งที่ศาลไม่อนุญาตเพราะเหตุใด และจำเลยหรือผู้ต้องหาจะสามารถแก้ไขเหตุนั้นหรือทำให้เหตุนั้นมันเปลี่ยนเเปลงไปแล้ว เหมือนกรณีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และ นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ ที่ทั้ง 3 คน ได้แถลงต่อศาลเองว่า จะไม่กระทำแบบเดิม เเละศาลก็รับเงื่อนไข ซึ่งทั้ง 3 คนนั้นในช่วงที่ถูกควบคุมตัวอาจจะไปนั่งคิด พิจารณาขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่ทำลงไปมันไม่ควรจะทำและเข้าใจในคำสั่งศาล กับคำว่า “ไปก่อเหตุภยันตรายประกันอื่นซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องมา จึงได้มาแถลงต่อศาลเองว่า จะไม่กระทำแบบเดิม มันจึงเป็นเหตุที่ถูกแก้ไข”
เมื่อถามว่า ทนายความอ้างว่า ได้ยื่นคำร้องประกันนายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน โดยใช้เงื่อนไขเดียวกับ 3 คนก่อนหน้านี้ที่ได้ประกันตัวไปนั้น นายสิทธิโชติ ตอบว่า ไม่ใช่
ในคำร้องที่ยื่นมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา มันแตกต่างกับ 3 คนที่ได้ประกันตัว ในหลายประเด็น ของ 3 คนนั้น ตัวจำเลยเองเป็นคนลงชื่อในคำร้องเเละยืนยันต่อศาลขอให้ศาลทำการไต่สวน และแถลงต่อศาลด้วยตนเองว่า จะไม่กระทำลักษณะที่ถูกฟ้องและจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น ส่วนข้อกำหนดอื่นก็ให้ศาลสั่ง ซึ่งศาลเองก็ไม่สามารถสั่งอย่างอื่นได้ต้องสั่งตาม ป.วิอาญามาตรา 108/1 ที่ว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น ศาลก็จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เพราะจำเลยเป็นคนเสนอเงื่อนไขเองและจำเลยก็เป็นคนแถลงเอง ไม่ใช่ทนายความเป็นคนแถลงแต่ฝ่ายเดียว มันแตกต่างกัน
“ส่วนที่ทนายความยื่นคำร้องเมื่อวาน ทนายความยื่นเอง ในเนื้อหาก็ไม่ได้พูดถึงเลยพูดเพียงแต่ว่า ให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเอา ซึ่งศาลจะไปบังคับเขาก็ไม่ได้ ศาลจะไม่บังคับใคร แต่ว่าหากตัวจำเลยเห็นว่า สิ่งที่ศาลสั่งว่าเกรงจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นที่ศาลก็บอกแล้วว่าที่ไม่ให้ประกัน เกรงจะไปกระทำซ้ำในความผิดที่ฟ้อง เเละจำเลยตัดสินใจจะไม่กระทำเเบบนั้นอีกพร้อมยอมรับในกระบวนการยุติธรรมอีก ศาลก็จะพิจารณา” นายสิทธิโชติ ระบุ
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวต่อว่า ที่ต้องระบุเรื่องการยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากในตอนหลังมีเหตุแทรกซ้อน ในกระบวนการพิจารณาซึ่งศาลได้กระทำตามขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง แต่จู่ๆ มาบอกว่า ไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม และขอถอนกระบวนการพิจารณา ถอนทนาย พร้อมไม่ลงชื่อ ในรายงานกระบวนพิจารณา และกลับเอารายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเองภายหลังจากที่ศาลลงจากบัลลังก์ไปแล้ว ทั้งที่จริงเเล้ว เรื่องนี้อาจจะต้องเข้าข่ายผิดละเมิดอำนาจศาลด้วย เเต่ศาลเห็นว่า เราไม่ควรดำเนินคดีอะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินไป จึงได้มองแต่เพียงว่าเขาไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาเเละไม่ลงชื่อในการพิจารณาคดีต่อไป
ตรงนี้มันทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในสิ่งที่จำเลยยืนยันว่า ยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้เสนอมา ทำให้ศาลไม่เชื่อว่าจะกระทำตามเงื่อนไขได้ ในกรณีของ 3 คน ในตอนเเรก จึงให้ประกันเเต่นายปติวัฒน์ ที่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ส่วนอีก 2 คน ไม่ได้ประกันตัวในครั้งนั้น จนมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเเก้ไขตั้งทนายเเละยอมรับกระบวนพิจารณาตามปกติ จนศาลเชื่อถือว่า ปฏิบัติได้ จึงอนุญาตปล่อยนายสมยศ และ ไผ่ ซึ่งเราสั่งไปตามกฎหมาย ไม่ได้มีอะไรเเปลกพิสดาร ทุกอย่างมันขึ้นกับข้อเท็จจริงเเบบนี้
“เเต่เมื่อวานทนายไม่ได้ยื่นรายละเอียดว่า เขาจะไม่ทำอะไรบ้างตามที่ศาลเคยสั่งไป สองจำเลยไม่เคยพูดหรือไม่เคยเขียนรายละเอียดอะไรเลย แม้กระทั่งวันที่ออกศาลมาพิจารณาพร้อมกับหมอลำแบงค์ ตัวจำเลยคนอื่นก็อยู่ด้วยกันตลอด จำเลยทั้ง 7 คนที่ยื่นประกันก็ไม่เสนอเงื่อนไขอะไร
เงื่อนไขที่อ้างว่าเจ็บป่วยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทางราชทัณฑ์ก็ยืนยันตลอด คือ มันไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ตรง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความกดดันต่อความรู้สึกผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษาจะต้องทำงานโดยปราศจากความกดดันใดๆ ทั้งสิ้น” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวย้ำ
เมื่อถามว่า ในส่วนที่ข้อเท็จจริงไม่ตรงกันเรื่องความเจ็บป่วยของจำเลยกับทางราชทัณฑ์ จะมีทางพิสูจน์ได้หรือไม่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตอบว่า ตอนนี้ทางฝ่ายผู้ชุมนุม จะไปยื่นคำร้องต่อราชทัณฑ์ขอเข้าไปพบดูอาการเเละขอนำแพทย์มาตรวจอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ เเละก็ต้องลองขออนุญาตดูว่าจะใช้แพทย์จากภายนอกได้หรือไม่... สิ่งนี้มันจะเป็นหลักฐาน ที่ดีกว่าการกล่าวอ้างลอยๆ สร้างกระเเสมากดดันศาล
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ การล่าแม่มดผู้พิพากษา และลูกชาย ซึ่ง พวก “3 นิ้ว” เริ่มใช้วิธีสกปรกมาต่อสู้เรียกร้อง ขณะที่ศาลเอง ก็มีความจำเป็นจะต้องธำรงไว้ซึ่งขบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ คือ ไม่ยอมตัดสิน หรือ ใช้ดุลพินิจภายใต้ความกดดัน พูดง่ายๆไม่ยอมให้ใครมากดดันการพิจารณาของศาลได้
ที่สำคัญ กรณีที่ฝ่ายสนับสนุนม็อบ 3 นิ้ว เคลื่อนไหวต่างๆ นานา เรียกร้องให้ศาลเห็นแก่มนุษยธรรม เห็นแก่ชีวิต ความเป็นความตายของ “กวิ้น” ที่อดข้าวประท้วงหลายวัน ควรให้ประกันตามสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไม่มีเงื่อนไข
และขณะเดียวกัน ก็ถือหาง “กวิ้น” อย่างเต็มที่ ไม่เคยเรียกร้องให้ “กวิ้น” ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ตั้งทนายใหม่ และแถลงที่จะทำตามเงื่อนไขการได้ประกันทุกอย่าง เพื่อจะให้ศาลได้พิจารณาใหม่
ตรงข้ามกลับดันทุรังที่จะกดดันศาลช่วย “กวิ้น” ด้วยเกมกดดันนอกกฎหมาย(ไม่มีกำหนดในกฎหมาย) มันอะไรกันแน่ อย่างที่ “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ว่า สรุปแล้ว บ้านเมืองเราปกครองด้วยอะไร ด้วยกฎหมาย หรือกฎหมู่?
แล้วเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ก็ปลุกระดมกันไป “ล่าแม่มด” เหมือนพวกไร้สมอง ทำตามกันไปเพียงเพราะความโกรธแค้น อย่างนี้หรือ วิธีการของคนรุ่นใหม่ คนที่จะเป็นอนาคตใหม่ของประเทศ?
เหนืออื่นใด ดูเหมือนว่า สถาบันหลักของไทย กำลังจะถูกทำลายล้างอย่างเป็นขบวนการ และขบวนการนั้นก็คือ “3 นิ้ว” นั่นเอง จริงหรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด!!!