xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กฉิ่ง” ชี้ช่อง อปท.จัดงบฯ 65 ไปต่อ! “อสม.ดูแลคนชรา” ต่อเนื่องเงินกู้พันล้าน แม้ สตง.จี้ยุติใช้เงินไม่สัมฤทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กฉิ่ง” ชี้ช่อง อปท.ทั่วประเทศ จัดงบฯ 65 ไปต่อ! “โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น” ต่อเนื่องแผนเงินกู้ 1 พันล้าน สู้โควิด-19 แม้ สตง.ส่งหนังสือ จี้ “สภาพัฒน์-มท.” ทบทวนโครงการ จี้ยุติใช้เงินไม่สัมฤทธิ์ ย้ำมีค่าตอบแทนต่ำเกินไป ไม่จูงใจ “อสม.ดูแลคนชรา” ระยะยาว หวั่น “ผู้สูงอายุ” ไม่ได้รับการดูแลต่อเนื่อง

วันนี้ (26 เม.ย. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ รับทราบและปฏิบัติตามแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่ “อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

สำหรับโครงการนี้ กำกับโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ตามแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ภายใต้กรอบวงเงิน 1,080,490,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี 21 ก.ค. 2563 โดยได้เปิดรับ อาสามัครบริบาลท้องถิ่น 15,548 อัตรา จ่ายค่าตอบแทน 5,000 บาท/เดือน

หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า เพื่อให้ “อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น” ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีภาวะพึ่งพิงและการส่งเสริมอาขีพใหม่เพิ่มเติมในท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดี ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม

“มหาดไทย จึงได้กำหนดแนวทางในการตั้งงบประมาณของ อปท. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เช่น ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย และวัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อให้ อปท.สามารถนำเงินรายได้ของตนเองไปตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่าย”

โดยเฉพาะ “ค่าตอบแทน” ให้พิจารณาตั้งงบประมาณรายจ่ายในหมวดค่าตอบแทน ประเภทค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติราชการอันเป็นประโยชน์ แก่ อปท. ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความจำเป็นและฐานะการคลัง โดยให้ถือปฏิบัติตาม หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0819.2/ว 6290 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2562 และเป็นไปตาม หนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เช่นเดียวกับค่าวัสดุและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพิ่งมีหนังสือถึงเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พ.ศ. 2563 ตามกรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

สตง. ระบุถึงโครงการนี้ที่เงินกู้ตามกรอบวงเงิน 1,080.59 ล้านบาท ว่า เป็นโครงการที่ใช้จ่ายค่าตอบแทนให้อาสาสมัคร 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง สตง.มองว่าอาจเป็นค่าตอบแทนที่ต่ำเกินไปที่จะจูงใจให้อาสาสมัครทำงานต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลหรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงไม่ได้รับการดูแลต่อเนื่องได้

“สตง.มีข้อเสนอด้วยว่าในการกำกับดูแลการดำเนินการในโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ฯ หากเป็นโครงการที่ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ หรือว่ามีเหตุผลชี้ชัดว่าหากดำเนินการไปแล้วจะไม่สัมฤทธิ์ผลก็ให้ ครม.สามารถสั่งยุติโครงการได้ทันที เพื่อนำเงินกู้ที่เหลือไปใช้จ่ายในโครงการที่มีความพร้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

สตง. ยังมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อประสานขอให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวน อสม.ดูแลคนชราทั่วประเทศ และจำนวนอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นที่ยื่นหนังสือลาออกเป็นรายเดือน ภายหลังพบว่า โครงการนี้ มีการเบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 126.47 ล้านบาท

โดยเฉพาะจำนวนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการพบว่าต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากเริ่มจ้าง อสม.บริบาลท้องถิ่น เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ได้ทั่วประเทศจำนวน 12,205 ราย จากเป้าหมาย 15,548 ราย และมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมากยื่นหนังสือขอลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น ทำให้อัตราค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับภาระงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น