สตง. ชี้เป้า “บิ๊กโปรเจกต์สู้โควิด” 3 กระทรวงใหญ่ จากกรอบเงินกู้ 1 ล้านล้าน ส่อพลาดเป้า ทั้งจัดสรรเงินล่าช้า โครงการสปีดไม่ขึ้น หน่วยงานกำกับ “ขาดความพร้อม” แนะ “ประธานบอร์ดกลั่นกรองเงินกู้” เสนอ ครม.ทบทวนโครงการ ถึงขั้นยุติโครงการ ที่คาดว่าจะไม่สำเร็จได้ทันที
วันนี้ (24 เม.ย. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึงเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พ.ศ. 2563 ตามกรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
สตง. แจ้งถึงโครงการอย่างน้อย 6 โครงการ ที่มีความเสี่ยงที่อาจทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่สามารถดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้ใช้จ่ายเงินกู้ฯไม่คุ้มค่า หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ฯ
โดยพบความเสี่ยง เป็นโครงการที่กำกับโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 โครงการ
จากปัญหาจากการจัดสรรเงินกู้ล่าช้ากว่าแผนการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ เช่น “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” วงเงิน 3,550.9 ล้านบาท ในกำกับของ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) ที่ได้รับการจัดสรรวงเงินช้ากว่าที่กำหนดไว้ 1 เดือน ยังพบว่าโครงการนี้ เจ้าของหน่วยงานขาดความพร้อม หลังจาดพลาดเป้าในการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ได้เพียง 21,556 ราย จากเป้าหมาย 64,144 ราย
“ซึ่งในโครงการนี้มีการจำกัดอายุของเกษตรกรที่อายุเกิน 60 ปี และยังมีเงื่อนไขเรื่องที่เกษตรกรต้องยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินไม่น้อยกว่า 5 ปี ทำให้เกษตรกรจำนวนนึงไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ”
เช่นเดียวกัน ยังพบว่า โครงการนี้มีความเสี่ยงที่จะไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากเจ้าของหน่วยงานมีการขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดและเป้าหมายของโครงการเป็นระยะๆ สะท้อนถึงความไม่พร้อมในการดำเนินโครงการในทันทีภายหลังจากที่ ครม.อนุมัติ เช่นการปรับเปลี่ยนจำนวนเกษตรกรเป้าหมายซึ่งทำให้โครงการอาจไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ หลังจากมีการ “ทบทวนโครงการ” ได้เปิดรับสมัครเพิ่มเติม (รอบที่ 5) จนถึง 31 มี.ค. 64 จากข้อมูล มีเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 28,265 ราย จากเป้าหมาย 32,000 ราย มีการจ้างงานเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับตำบลไปแล้วประมาณ 13,000 ราย จากเป้าหมาย 16,000 ราย ยังเหลืออัตราว่างอีก 3,000 ราย
อีกโครงการคือ “โครงการการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน” (One Stop Service) ของกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 169.88 ล้านบาท ที่ดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผนการดำเนินงานที่กำหนด ซึ่งมีความล่าช้าในการทำฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มส่วนวัสดุอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ในแต่ละสำนักงานเกษตรจังหวัด ก็มีการจัดซื้อ จัดจ้างที่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด
ยังพบว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุผล ซึ่งโครงการมีแผนที่จะจัดซื้อชุดตรวจวิเคราะห์ค่าดิน (soil test kit) ซึ่ง สตง.มองว่าอาจเกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้งานได้ ขณะที่โครงการนี้ไม่มีความชัดเจนในการจัดซื้อแม่ปุ๋ยให้กับสมาชิกในโครงการทำให้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้สมาชิกได้ผลิตปุ๋ยในราคาถูกทำได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่โครงการที่อยู่ในกำกับของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับจัดสรรเงินกู้ล่าช้ากว่าแผน ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล 7 กิจกรรม วงเงิน 4,787 ล้านบาท อยู่ในกำกับของ กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ล่าช้าเป็นระยะเวลา 2 เดือน
ยังพบว่า 2 โครงการของกระทรวงมหาดไทย มีความเสี่ยงที่จะไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่ “โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ” ในกำกับของ กรมการปกครอง พบปัญหาว่าโครงการไม่ได้มีการกำหนดแหล่งที่มาของข้อมูล วิธีการเก็บข้อมูลของอาสาสมัครที่จ้างลงไปเก็บข้อมูลในชุมชนอย่างบูรณาการ และข้อมูลที่มีการจัดเก็บอาจไม่เป็นปัจจุบันได้ในปีต่อๆไปข้อมูลที่รัฐบาลได้จากโครงการนี้อาจไม่ได้เป็นประโยชน์เมื่อต้องนำข้อมูลมาใช้ไม่สามารถนำไปแก้ปัญหาชุมชน สังคม เศรษฐกิจได้จริง
อีกโครงการ คือ “โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ในกำกับของ กรมส่งเสริมการการปกครองสว่นท้องถิ่น (สถ.) ตามกรอบวงเงิน 1,080.59 ล้านบาท ซึ่งจ่ายค่าตอบแทนให้อาสาสมัคร 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่ง สตง.มองว่า อาจเป็นค่าตอบแทนที่ต่ำเกินไปที่จะจูงใจให้อาสาสมัครทำงานต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลหรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงไม่ได้รับการดูแลต่อเนื่องได้
ยังพบ 1 โครงการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยว (Safety Zone) ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากการตรวจสอบเอกสารและสอบถามเจ้าหน้าที่พบว่าโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19
“สตง.มีข้อเสนอด้วยว่าในการกำกับดูแลการดำเนินการในโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ฯ หากเป็นโครงการที่ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ หรือว่ามีเหตุผลชี้ชัดว่าหากดำเนินการไปแล้วจะไม่สัมฤทธิ์ผลก็ให้ ครม.สามารถสั่งยุติโครงการได้ทันที เพื่อนำเงินกู้ที่เหลือไปใช้จ่ายในโครงการที่มีความพร้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สตง. เพิ่งมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อประสานขอให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น (อสม.ดูแลคนชรา) ทั่วประเทศ และจำนวนอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นที่ยื่นหนังสือลาออกเป็นรายเดือน
ภายหลังพบว่า โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานหน่วยงานรับงบประมาณโครงการฯ ตามกรอบวงเงิน 1,080.59 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายพลาดเป้าหมาย 126.47 ล้านบาท
“โดยเฉพาะจำนวนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการพบว่าต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากเริ่มจ้างอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น (อสม.บริบาลท้องถิ่น) เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ได้ทั่วประเทศจำนวน 12,205 ราย จากเป้าหมาย 15,548 ราย และมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมากยื่นหนังสือขอลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น ทำให้อัตราค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับภาระงาน”