รองโฆษกรัฐบาล เผยบอร์ดยุทธศาสตร์สตรีแห่งชาติ เคาะ “การแก้ปัญหาการข่มขืนและละเมิดทางเพศ” เป็นวาระแห่งชาติ จัดทำคู่มืองบประมาณสะท้อนเพศภาวะ “จุรินทร์” เร่งเสนอ ครม.
วันนี้ (26 เม.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 26 เม.ย. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมฯเห็นชอบการผลักดันให้ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ” เป็น “วาระแห่งชาติ” สอดคล้องกับข้อเสนอแนะนำจากสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี (กสส.) ซึ่งการดำเนินการจากนี้จะต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลให้ครอบคลุมและเจาะลึกในทุกมิติ เพื่อจัดทำร่างวาระแห่งชาติฯ ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป ภายในเดือน ก.ค.นี้
ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (Gender Responsive Budgeting - GRB : A Practical Handbook) ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (ภาวะความเป็นหญิงหรือชายที่ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม) 2) ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ สามารถสจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะของหน่วยงาน นำไปสู่ผลลัพธ์ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมและเหมาะสมตามความจำเป็นและความต้องการของประชากรที่มีความแตกต่างทางเพศ วัย และสภาพของบุคคล โดยคาดว่าในเดือน มิ.ย.จะเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อมีมติให้ทุกหน่วยงานนำคู่มือฯ ไปใช้ในการจัดทำงบประมาณ
น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกฯ จุรินทร์ ยังได้มอบหมายให้ กสส.รวบรวมข้อเสนอจากสมัชชาสตรีระดับชาติ ประจาปี 2563 ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก คือ 1) สุขภาพของผู้หญิง 2) การศึกษาของผู้หญิง 3) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 4) งานของผู้หญิง 5) ความรุนแรงต่อผู้หญิง นำไปวิเคราะห์ว่า ยังมีการดำเนินการเรื่องใดที่ยังไม่ตอบสนองต่อปัญหา จะได้นำไปพัฒนาการดำเนินงานและกำหนดยุทธศาสตร์สตรีในระยะต่อไป อีกทั้งแก้ไขปัญหาปัจจุบันอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยจะมีการนำผลการวิเคราะห์เข้าสู่ที่ประชุม กยส.อีกครั้ง ก่อนเสนอ ครม.ในเดือน ก.ค.นี้ ทั้งนี้ นายจุรินทร์ย้ำว่า รัฐบาลพร้อมเต็มที่ที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ความคิดเห็นต่างๆที่สะท้อนมานั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการทำงานของภาคราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อนึ่ง สถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2562 จัดทำโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 15,797 ราย หรือเฉลี่ย 43 รายต่อวัน ผู้กระทำความผิด 3 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว คือ สามีภรรยา แฟน และอื่นๆ เช่น คนรู้จักทาง Facebook แฟนเก่า เพื่อนของญาติ ฯลฯ ในขณะที่มีคดีความรุนแรงในครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวม 174 คดี