“ฐิติภัสร์” ขอผู้ว่าฯ กทม.ทำงานเชิงรุกป้องการแพร่เชื้อในครอบครัว หวั่นเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ พร้อมแนะให้ความรู้ ปชช.เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว หากต้องอยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อ
วันนี้ (25 เม.ย.) น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ในภาวะวิกฤตต้องแยกการดูแลชุมชนแออัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจนกลายป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เพราะเราไม่อยากเห็นการแพร่เชื้อไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่ก็เหมือนลูกหลานของเรา พร้อมยกตัวอย่างเด็กน้อยอายุ 1 ปี 10 เดือน และพี่สาวอายุ 12 ปี ได้รับเชื้อโควิด-19 จากผู้ปกครองที่พักอาศัยอยู่ภายในบ้านเดียวกัน ได้รับการเข้ารับการรักษา โดยมีคุณแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลแล้ว ต้องขอบคุณนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่พยายามประสานช่วยเหลือหาที่รักษาพยาบาลให้เด็กทั้ง 2 คน
น.ส.ฐิติภัสร์ระบุด้วยว่า เคสนี้เป็นอีกหนึ่งเคสที่เชื่อว่าหลายครอบครัวจะพบกับเรื่องนี้ คือ ติดกันไปมาอยู่ภายในบ้านหลังเดียวกัน เพราะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีเชื้อ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คือมีข้อบ่งชี้อาการ หรือ สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อถึงจะไปตรวจหาเชื้อ หรืออย่างหลายเคสก็มีข้อจำกัดในเรื่องของบ้านพักอาศัย หรือห้องพักอาศัยเดียวกัน ไม่มีที่หรือบริเวณเพียงพอที่จะใช้ในการแบ่งพื้นที่สำหรับผู้ที่ต้องการกักตัว
ดังนั้น ขอเสนอท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับไปยังศูนย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นำข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อจากศูนย์เอราวัณ มาทำงานเชิงรุก เมื่อทราบว่าบ้านไหน ห้องไหน บริเวณไหนมีผู้ป่วยติดเชื้อ ให้ศูนย์สาธารณสุขแต่ละพื้นที่ลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำ วิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องให้กับครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดของผู้ติดเชื้อ รวมถึงเพื่อนบ้าน ผู้พักอาศัยที่อยู่ภายในตึกคอนโดฯ-หอพักเดียวกัน เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รู้จักดูแลตนเองและครอบครัว
“ปัจจุบันประชาชนจำนวนมากต้องเครียดกับข้อมูลจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้นในแต่ละวันแล้ว ยังต้องมาเครียดหนักไปกว่าเดิมหากรู้ว่าคนในครอบครัว คนในที่พักเดียวกัน เพื่อนข้างห้อง หรือเพื่อนบ้านมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด แต่ไม่รู้ว่าตนเองจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จะติดต่อใคร ทำไมไม่มีใครมาให้คำแนะนำ โทร.หาสายด่วนก็ไม่ว่าง เข้าใจว่าทุกท่านทำงานหนัก ทุกคนก็อยากช่วยกัน ฉะนั้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนก็ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงไปได้บ้าง และยังช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ไปได้ด้วยเช่นกัน” น.ส.ฐิติภัสร์ระบุ
นอกจากนี้ยังขอย้ำว่า ศูนย์สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่จากศูนย์สาธารณสุข ไม่ใช่ไปโยนให้เป็นภาระของ อสส.อย่างเดียว เพราะ อสส.บางท่านก็เป็นผู้สูงอายุ บางท่านก็มีโรคประจำตัว และก็อาจจะยังไม่ทราบถึงวิธีการที่ถูกต้องเท่ากับเจ้าหน้าที่ศูนย์สาธารณสุข
พร้อมติดแฮชแท็ก #ขอแค่ได้ช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ #ทำด้วยใจ #โควิด19 #สู้ไปด้วยกัน