ศาลปกครองกลาง ยกคำขอของกระทรวงคมนาคม-รฟท.ระงับจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ชี้ คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แม้อ้างกำลังฟ้องถอนทะเบียนบริษัท และขอศาล รธน.วินิจฉัยมติที่ประชุมใหญ่ศาล ปค.สูงสุด ไม่ชอบ ไม่เข้าเงื่อนไขให้งดบังคับคดี ไร้ กม.ให้อำนาจศาลสั่งทุเลา
วันนี้ (21 เม.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดี ในคดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอชะลอการจ่ายค่าเสียหายราว 2.4 หมื่นล้านบาท แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 51 ที่ให้ 2 หน่วยงานรัฐ ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว
ส่วนเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวระบุว่า เมื่อคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2 551 โดยให้กระทรวงคมนาคมและรฟท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพัน ทั้ง 2 หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ตามในมาตรา 70 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แม้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จะอ้างว่าได้ดำเนินการทางศาล โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพรบจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 หรือไม่ และ รฟท.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอน ทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้ง 2 หน่วยงานได้ดำเนินการสอบสวน เพื่อหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งและทางวินัยจากการกระทำความผิดในโครงการนี้ ก็ตามแต่ในชั้นนี้กรณีดังกล่าวไม่เป็นเหตุที่จะเข้าเงื่อนไขในการงดการบังคับคดี ตามข้อ 131 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 ส่วนการทุเลาการบังคับคดีนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลในการทุเลาการบังคับคดีประกอบกับคดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 73 วรรค 4 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้เช่นกัน