มหาดไทยเร่ง อปท.13 จังหวัด เจ้าของโครงการ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” ตรวจสอบค่าใช้จ่ายงบลงทุนส่ง “พลังงาน” จ่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed - in - Tariff (FIT) เน้นค่าอุปกรณ์และเครื่องจักร พ่วงค่าจำกัดขยะของแต่ละ อปท.
วันนี้ (16 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 13 จังหวัด เพื่อแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าของโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบโครงการ แจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการลงทุนของโครงการ
“ข้อมูลดังกล่าว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการของ อปท. เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed - in - Tariff (FIT)”
สำหรับการตรวจสอบครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากเมื่อต้นปี 2564 กระทรวงมหาดไทยได้ขอให้ อปท.เจ้าของโครงการฯ ให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 ข้อ 18 เพื่อประกอบการกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงานที่จะพิจารณากำหนดนโยบายการจัดหาไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าว
การตรวจสอบครั้งใหม่นี้ มุ่งไปที่ “ค่าใช้จ่ายในการลงทุนของโครงการฯ” ทั้งรายละเอียดต้นทุน ประกอบด้วย ค่าอุปกรณ์และเครื่องจักร ระบบรับและป้อนขยะมูลฝอย ระบบเผาไหม้ ระบบผลิตพลังงาน ระบบควบคุมมลพิษ ระบบไฟฟ้า ระบบจัดการเถ้าหนักเถ้าเบา ระบบบ่อพักขยะ พักน้ำเสีย ระบบเชื้อเพลิงเสริม ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังให้ตรวจสอบ “สมมติฐานทางการเงินโรงไฟฟ้าขยะ อปท.” เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าจำกัดขยะ (บาท/ตัน) สัดส่วนหนี/เงินลงทุน ระยะเวลาเงินกู้ อัตราเงินเฟ้อ ผลตอบแทนโครงการและผู้ลงทุน ฯลฯ
“13 จังหวัดที่ รมว.มหาดไทยเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) อนุมัติจัดตั้ง “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” ได้แก่ ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ ชุมพร จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช มหาสารคาม ยะลา ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สระแก้ว สุโขทัย และอุดรธานี”
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้รับการสนับสนุนโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. จากกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (Power Development Plan : PDP 2015) และจะดำเนินการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับพื้นที่กำจัดขยะของกลุ่มพื้นที่ (Clusters) ทั้ง 324 กลุ่ม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันเพื่อกำหนดในแผน PDP ต่อไป
สำหรับแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้นได้มีการแบ่งบทบาทกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้จัดทำแผนและกำหนดนโยบายรวมทั้งแนวทางการรับซื้อ เพื่อให้ กกพ.ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย แต่ในส่วนการพิจารณาคัดเลือกว่าเอกชนรายใดจะได้สิทธิขายไฟฟ้าเข้าระบบจะเป็นบทบาทของกระทรวงมหาดไทย