xs
xsm
sm
md
lg

“เทพไท” ปูด 2 เหตุผล รบ.ชิงเป็นเจ้าภาพแก้ รธน.แนะผนึก 6 ประเด็นร่างเดียววัดใจ ตีตกทบทวนท่าที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เทพไท เสนพงศ์ (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.ปชป. ตามอัด รบ. แฉ 2 เหตุผลชิ่งหนีเป็นเจ้าภาพแก้ รธน. ทำพรรคร่วมระแวง แนะผนึก 6 ประเด็นในร่างเดียววัดใจ-กดดัน พปชร. พิสูจน์ความจริงใจต่อนโยบายแก้ รธน. หากถูกตีตกอีกรอบ ยุพรรคร่วมทบทวนร่วม รบ.

วันนี้ (15 เม.ย.) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ว่า ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลชุดนี้ ที่มีนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน ข้อ 12 ซึ่งรัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีมติคณะรัฐมนตรี เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามคณะรัฐมนตรี เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นการพิจารณากฎหมายของรัฐบาล แต่สาเหตุที่รัฐบาลไม่นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามคณะรัฐมนตรีน่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ คือ

1. รัฐบาลชุดนี้ ไม่สนใจ และไม่ให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วน ก็เพราะเป็นความจำใจ ที่จะต้องตอบรับเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเข้าร่วมรัฐบาล จึงจำเป็นต้องระบุไว้ในนโยบายเร่งด่วน เพื่อเอาใจพรรคประชาธิปัตย์ไว้ก่อน

2. กลัวว่าถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี เมื่อนำเข้าสู่การประชุมรัฐสภาแล้ว ไม่สามารถจะควบคุมเสียงสนับสนุน จากสมาชิกวุฒิสภา หรือจากสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ อาจจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลถูกคว่ำลงได้ รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โดยการยุบสภา หรือลาออกในทันที แต่ถ้าหากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ถูกคว่ำในที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาลก็จะไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแต่อย่างใด จะโบ้ยเป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล หรือของสมาชิกรัฐสภา

นายเทพไท กล่าวว่า การที่รัฐสภามีมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมรัฐบาล ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. และประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่าจะต้องมีการทำประชามติ สอบถามความเห็นจากประชาชนก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงทำให้พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันชิงการนำ มีการประกาศเสนอประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 5 ประเด็น 13 มาตรา กับในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น และจะแยกออกเป็นร่าง 6 ฉบับ เพื่อป้องกันการถูกคว่ำทั้งหมด เพราะถ้าหากมีการเสนอทั้ง 6 ประเด็นในร่างเดียวกัน เมื่อถูกมติเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาคว่ำลง ก็จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปทั้งฉบับ ทั้ง 6 ประเด็น จึงจำเป็นต้องแยกย่อยออกมาเป็นประเด็นละฉบับ เพื่อเป็นหลักประกันว่า อาจจะมีบางประเด็นได้รับเสียงโหวตให้มีการแก้ไขได้

“แสดงให้เห็นว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค ไม่มีความมั่นใจในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ว่า จะผ่านมติรัฐสภาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 อาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา จึงจำเป็นต้องแยกประเด็น ออกเป็นร่างแต่ละฉบับ ถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค มีความมั่นใจ และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ก็ควรที่จะเสนอรวมกันทั้ง 6 ประเด็นอยู่ในร่างเดียวกัน เพื่อจะได้วัดใจ และกดดันพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ว่า จะมีความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากถูกหักหลังและถูกคว่ำในที่ประชุมรัฐสภา พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค ก็จะได้กำหนดทบทวนท่าทีทางการเมืองต่อไป” นายเทพไท กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น