xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” โพสต์ร่ายยาวแจงดรามาไร้ชื่อร่วมคณะจัดหาวัคซีนโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.สธ.แจงอย่ามองเป็นเรื่องการเมือง กรณีไม่มีชื่อในคณะทำงานจัดหาวัคซีนโควิด-19 ย้ำต้องช่วยกันทำถึงจะสำเร็จ

วันนี้ (11 เม.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “ร่วมมือร่วมใจ เพื่อคนไทยปลอดภัย” ระบุว่า มีข่าวทางสื่อมวลชน ว่า นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิด โดยไม่มีผมในฐานะ รมว.สาธารณสุข รวมอยู่ด้วย แล้ววิเคราะห์กันว่า เป็นความขัดแย้งในรัฐบาล หรือ ความไม่ไว้ใจให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการ นายกรัฐมนตรี จึงต้องตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาทำหน้าที่แทนกระทรวงสาธารณสุข

ขอเรียนชี้แจงว่า คณะทำงานฯ คณะนี้ ประกอบด้วย ฝ่ายวิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข สามารถระดมความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ และภาคเอกชน ได้มากกว่ากระทรวงสาธารณุข ดำเนินการหน่วยงานเดียว จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาของประเทศ รูปแบบการทำงานในขณะนี้ เป็นการร่วมมือกันทำงาน ช่วยกันทำงาน เพื่อประชาชน และประเทศชาติ ไม่ใช่การแย่งงานกันทำ แต่เป็นการแบ่งงานกันทำ

นายอนุทิน กล่าวว่า คณะทำงานฯ ทำหน้าที่วางแนวทาง มาตรการจัดหาวัคซีน เพิ่มเติมมาให้บริการประชาชน
กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่จัดซื้อวัคซีน และ บริหารจัดการวัคซีน ไปให้ถึงประชาชน เร็วที่สุด โดยมีสถานพยาบาลภาครัฐ และ ภาคเอกชน ร่วมกันฉีดวัคซีน ให้แก่ประชาชนตามแผนการฉีดวัคซีน ที่กรมควบคุมโรค จัดทำไว้ ซึ่งคาดว่าจะฉีดให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้ครบถ้วน ภายในเดือนตุลาคมนี้

“ผมขอเรียนว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข สั่งซื้อวัคซีนมาให้ประชาชน แล้ว จำนวน 63 ล้านโดส ขณะนี้มาถึงประเทศไทย แล้ว 2.117 ล้านโดส และ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป จะมีวัคซีนให้บริการประชาชน เดือนละ 5-10 ล้านโดส จนครบตามจำนวนที่สั่งซื้อไว้ คือ 63 ล้านโดส รวมแล้ว กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งซื้อวัคซีน มาให้ประชาชน แล้ว จำนวน 63 ล้านโดส สามารถฉีดให้ประชาชน 31.5 ล้านคน ในขณะที่ ทางวิชาการเราต้องฉีดวัคซีน ให้ประชาชนประมาณ 40 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรทั้งประเทศ และ ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย อีกจำนวนหนึ่ง”

นายอนุทิน ระบุว่า ดังนั้น ในปีนี้ เราจะต้องใช้วัคซีน จำนวน 80 ล้านโดส สั่งซื้อมาแล้ว 63 ล้านโดส จึงต้องสั่งซื้อวัคซีน สำหรับคนไทย เพิ่มอีกประมาณ 17 ล้านโดส และ อีกจำนวนหนึ่งสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นภารกิจของคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีน มีเกร็ดๆ เล็ก แต่มีความหมายมาก สำหรับการบริหารวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่กระทรวงสาธารณสุข สั่งซื้อ มา 61 ล้านโดส ผู้ผลิตใส่ขวดละ 6.5 ซีซี มาให้ จำนวน 6.1 ล้านขวด ซึ่งทีมแพทย์ พยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข สามารถฉีดให้ผู้รับวัคซีน ได้ ขวดละ 12 โดส มากกว่าที่กำหนดไว้ ถึง 2 โดส ต่อขวด ดังนั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 6.1 ล้านขวด หากจัดการให้ดี จะฉีดให้ประชาชน ได้เพิ่มขึ้น 12.2 ล้านโดส หรือ 6.1 ล้านคน ถ้าทำได้ตามที่เตรียมการ และซ้กซ้อมกันไว้ วัคซีนที่สั่งซื้อไว้แล้ว จะครอบคลุมประชากรที่ต้องรับวัคซีน ได้เกือบทั้งหมด ขาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“หากทำได้ตามนี้ จะเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุข นับแต่นี้ไป จึงเป็น การบริหารจัดการกระจายวัคซีน 63 ล้านโดส ไปฉีดให้แก่ประชาชนในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ของประเทศไทย ตามแผนควบคุมโรค ให้ได้เร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผมสั่งการให้ทุกสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ฉีดได้เสร็จก่อนเวลาที่กำหนด รวมทั้งขอความร่วมมือสถานพยาบาลของทุกหน่วยงานภาครัฐ และ โรงพยาบาลเอกชน ช่วยกันฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนด้วย”

รองนายกฯ กล่าวว่า วัคซีนจำนวน 63 ล้านโดส ที่สั่งซื้อมาแล้ว เป็นวัคซีนที่รัฐบาล จัดซื้อมาด้วยงบประมาณแผ่นดิน เพื่อฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และ หากมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ รัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ถึงแม้ว่าผู้ผลิตวัคซีนจะไม่รับผิดชอบ เพราะเป็นการฉีดวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินเบื้องต้นแล้วว่า การสั่งซื้อวัคซีน 63 ล้านโดส ในขณะนี้ เพียงพอที่จะให้บริการคนไทย หากจะขาดก็เพียงไม่มากนัก และได้พยายามจัดซื้อมาตลอด แต่ยังจัดซื้อเพิ่มเติมไม่ได้ เพราะผู้ผลิตวัคซีน ยังผลิตวัคซีนได้ไม่ทันกับคำสั่งซื้อ ที่ทุกประเทศทั่วโลก มีความต้องการวัคซีน มากกว่ากำลังผลิต เป็นจำนวนมากหลายเท่าตัว

กระทรวงสาธารณสุข จะสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานฯ เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทย ทั้งระบบ มีประสิทธิภาพ และเพียงพอ กับบริการประชาชนคนไทย และคนต่างชาติทุกคน ที่อยู่ในประเทศไทย ตามปรัชญาการควบคุมโรค ที่องค์การอนามัยโลก บอกว่า “ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครจะปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” หมายความว่า เราต้องทำให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยและจะต้องได้รับวัคซีน ต้องได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยไม่เลือกสัญชาติใดๆ

“ขอชี้แจงสระสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วัคซีนโควิดทุกตัว ที่มีการใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นวัคซีนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้ไป ศึกษาไป รายงานผลกันไป ยังไม่ใช่วัคซีนที่สมบูรณ์เหมือนวัคซีนอื่นๆ และ วัคซีนมีอายุใช้งานเพียง 6 เดือน เท่านั้น เป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่จัดซื้อมาสำรอง เป็นจำนวนมาก เพราะหากฉีดไม่ทัน จะสิ้นเปลืองงบประมาณ และ หากเชื้อโรคกลายพันธุ์ ต้องใช้วัคซีนใหม่ ก็จะต้องซื้อวัคซีนใหม่ โดยที่วัคซีนเดิม ใช้ไม่หมด และใช้ไม่ได้ จะเป็นการสูญเสียงบประมาณอีก”

ตอนท้าย นายอนุทิน ระบุว่า ขอเรียนว่าในคณะทำงานฯ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข หลายท่าน เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นคณะทำงานฯ แล้ว ผมได้ให้นโยบายทุกท่านสนับสนุน ร่วมมือกับคณะทำงานฯ เพื่อการกำหนดมาตรการ และแนวทางการจัดหาวัคซีน เพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นลำดับแรก ขอความกรุณาอย่ามองทุกเรื่องเป็นการเมือง เป็นความขัดแย้ง ผมไม่เคยนำเรื่องสุขภาพ และ ชีวิตของประชาชน มาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง และ ไม่เคยคิดเอาการเมืองมาใส่ในสถานการณ์โรคระบาด


กำลังโหลดความคิดเห็น