xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์กร่อย คนไม่กล้าจ่าย “สวนดุสิตโพล” เผยประชาชนกว่า 43% ไม่เข้าร่วมงาน คาดใช้จ่ายเฉลี่ย 4 พันบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพลชี้คนไทยยังให้ความสำคัญ “เทศกาลสงกรานต์” แต่มีโควิด-19 ทำให้ 43.88% อาจไม่ร่วมงานตามสถานที่ต่างๆ คาดใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 4,000 บาท

วันนี้ (11 เม.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,324 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน 2564 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกรณีสงกรานต์ปี 2564 รัฐบาลเน้นการจัดงานแบบ “ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งแรกในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ฉลองเทศกาลสงกรานต์ไปพร้อมๆ กับมาตรการควบคุมโรคระบาด สรุปผลได้ดังนี้

1. ในปี 2564 ที่มีโควิด-19 ระบาด ประชาชนจะเข้าร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ที่จัดตามสถานที่ต่างๆ หรือไม่ ไม่เข้าร่วม 43.88% ไม่แน่ใจ 33.31% เข้าร่วม 22.81%

2. กิจกรรมที่ประชาชนนิยมทำในเทศกาลสงกรานต์ในช่วงปกติก่อนมีโควิด-19 คือ อันดับ 1 กลับภูมิลำเนา 76.52% อันดับ 2 ไปวัดทำบุญร่วมกัน 68.99% อันดับ 3 ทำความสะอาดบ้าน/หิ้งพระ 67.08% อันดับ 4 ร่วมงานเทศกาลสงกรานต์/สาดน้ำ ประแป้ง 63.47% อันดับ 5 ไปเที่ยวกับครอบครัว 45.05%

3. แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งที่ประชาชนยึดถือและยังปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ อันดับ 1 รดน้ำดำหัวเฉพาะผู้ใหญ่ในครอบครัว 64.82% อันดับ 2 อยู่บ้าน ใช้เวลากับครอบครัว 63.28% อันดับ 3 ตักบาตรทำบุญ 53.66% อันดับ 4 สรงน้ำพระที่บ้าน 52.50% อันดับ 5 อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย 37.64%

4. ค่าใช้จ่ายของประชาชนในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่มีโควิด-19 ประมาณกี่บาท อันดับ 1 ไม่เกิน 3,000 บาท 55.86% อันดับ 2 3,001-5,000 บาท 25.49% อันดับ 3 มากกว่า 5,000 บาท 18.65% ค่าเฉลี่ย ประมาณ 4,183.57 บาท

5. ในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด ประชาชนให้ความสำคัญต่อเทศกาลสงกรานต์มากน้อยเพียงใด อันดับ 1 ให้ความสำคัญเท่าเดิม 57.63% อันดับ 2 ให้ความสำคัญน้อยลง 30.51% อันดับ 3 ให้ความสำคัญมากขึ้น 11.86%

ด้าน น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจพบว่า ถึงแม้จะมีโควิด-19 แต่วันสงกรานต์ยังเป็นเทศกาลที่ประชาชนให้ความสำคัญและใช้เวลากับครอบครัว สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน โดยในปีนี้ถึงแม้มีวันหยุดหลายวัน แต่ประชาชนก็คาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายไม่มากนัก เพราะยังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และยังมีความไม่แน่นอนจากสภาวการณ์โควิด-19 ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งบริหารงานด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

ด้าน ดร.วรานี เวสสุนทรเทพ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ในปี 2564 คนไทยยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ เพราะตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยภาพรวมของเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ประชาชนยังคงเดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากปีที่แล้วถูกงด และรัฐบาลไม่ได้ประกาศ Lock Down ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงเทศกาลนี้หมุนเวียนขึ้นมาบ้าง

ในส่วนของการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ยังคงมีการทำบุญที่วัด สรงน้ำพระ แต่ละวัดต้องมีมาตรการโควิด-19 อย่างเข้มงวด เว้นระยะห่าง ล้างมือ และอีกหลายๆ มาตรการ การสืบทอดและฉายภาพของวัฒนธรรมไทยมีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ทำบุญที่วัดใกล้บ้าน การจัดนิทรรศการประเพณีสงกรานต์ และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าได้มีการจัดกิจกรรมที่จะฉายภาพประเพณีของแต่ละท้องถิ่นให้คนเข้าชม และที่สำคัญประชาชนนิยมใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ในการรดน้ำอวยพรทั้งทางไลน์ เฟซบุ๊ก วันหยุดยาวนี้จึงเชื่อได้ว่าจะนำพาความสุขและกลิ่นอายของความสดชื่นจากเทศกาลสงกรานต์อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น