xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพล ชี้เครียดตกงาน มีโควิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเงินออมลด แนะรัฐฝึกอาชีพสร้างอาชีพเสริม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพล สำรวจเรื่องตกงาน เกิดความเครียดวิตก ตั้งแต่มีโควิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม เงินออมลดลง ฉุกเฉินก็ต้องใช้เงินเก็บ แนะรัฐแก้ปัญหา ฝึกอาชีพ สร้างอาชีพเสริม

วันนี้ (21 มี.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ตกงาน” ปัญหาใหญ่ของคนไทย ณ วันนี้ กลุ่มตัวอย่าง 1,155 คน สำรวจวันที่ 15-18 มีนาคม 2564 พบว่า ตั้งแต่มีโควิด-19 ประชาชนใช้จ่ายเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.65 แต่เงินออมลดลง ร้อยละ 47.10 เมื่อต้องใช้เงินฉุกเฉินจะนำเงินเก็บส่วนตัวออกมาใช้ ร้อยละ 55.23 โดยมองว่าสถานการณ์ “ตกงาน” ณ วันนี้ ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 65.94  จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยให้มีการฝึกอาชีพ สร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชน ร้อยละ 56.66

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีโควิด-19 ตัวเลขการตกงานของคนไทยก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่สบายใจได้เท่าใดนัก เมื่อโควิด-19 เข้ามาจึงเป็นเหมือนตัวเร่งให้ยอดคนตกงานพุ่งสูงขึ้น แรงงานอีกหลายส่วนก็ยังอยู่ในสถานะที่ไม่รู้ว่าจะยื้อไปได้อีกนานแค่ไหน ปัญหาตกงานจึงเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ณ วันนี้ และควรจะต้องเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน เพราะหากมุ่งแก้เฉพาะปัญหาการเมือง สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยจะหลับลึกและไม่ตื่นก็เป็นได้       
                                            
ผศ.ดร.ประศาสน์ นิยม อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุในปี 2563 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 6.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบ ร้อยละ 0.9 เป็นผลมาจากการที่ประชาชนมีรายได้ ชั่วโมงการทำงาน และค่าล่วงเวลาลดลง จำเป็นต้องใช้เงินออมเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด มีการก่อหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น จากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐแสดงให้เห็นว่า คนไทยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน มีรายได้ไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน รวมทั้งคนไทยที่มียอดเงินฝาก ไม่เกิน 50,000 บาท สูงถึงร้อยละ 86.6 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงระดับรายได้และเงินออมของคนไทยส่วนใหญ่ต่ำมาก ปัจจุบันมีผู้ว่างงานจำนวน 650,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.69 ของกำลังแรงงาน มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีก่อน

ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างงานและพัฒนาทักษะใหม่ เช่น การพัฒนาระบบ อี-คอมเมิร์ซ และระบบโลจิสติกส์ที่เป็นของคนไทย การส่งเสริมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มอเตอร์ และแบตเตอรี่ การเกษตรปลอดภัยและอาหารสุขภาพ โดรนทางการเกษตร การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งภาคในเมืองและภาคการเกษตร เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น