xs
xsm
sm
md
lg

เอางี้เลยหรือลุง!! ตั้ง “อมร มีมะโน” ติดคดีปั่นหุ้น นั่งสำนักนายกฯ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ดู ไม่สอบประวัติ ไม่แคร์อะไรเลยหรือ? ** ตรวจแถว ส.ส.- ส.ว. ใครลงคะแนนเสียงอย่างไร ในการโหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน.วาระ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**เอางี้เลยหรือลุง!! ตั้ง “อมร มีมะโน” ติดคดีปั่นหุ้น นั่งสำนักนายกฯ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ดู ไม่สอบประวัติ ไม่แคร์อะไรเลยหรือ?

วงการหุ้น-นักลงทุน ถึงกับช็อกไปตามๆ กัน หลังจาก ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง “เสี่ยอมร” อมร มีมะโน ให้เป็น ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ถามว่า “อมร มีมะโน” คนนี้เป็นใคร ก็ต้องบอกว่า โปรไฟล์ไม่ธรรมดา!!
แรกเริ่มเดิมที ประกอบธุรกิจจิวเวลรี ตั้งบริษัทชื่อเพชรน้ำหนึ่ง ... ต่อมาแตกไลน์ทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ยี่ห้อ เอเจ (AJ) ที่มีสโลแกนที่คนจำได้ ว่า “พระเอกตัวจริง” ที่น้าบัติ “สมบัติ เมทะนี” โปรโมตนั่นไง
ตัวเขาเองเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายใต้ชื่อ บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA
“อมร” มีโปรไฟล์การทำงานการเมือง ที่เขามักโชว์อวดใครต่อใคร ก็มีตั้งแต่เคยเป็นคณะทำงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี “พินิจ จารุสมบัติ” และ “ดร.สามสี” ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
อดีตที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ รองประธานรัฐสภา “พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย” จนมาถึง อดีตที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ “หญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ... ธรรมดาซะที่ไหน
พอ AJ เข้าตลาดหุ้นได้ไม่กี่เดือน ถ้ายังจำกันได้ ราคาหุ้นถูกปั่นจาก 2.60 บาท พุ่งขึ้นไปถึง 15 บาท โดยสตอรี่ที่ช่วยปั่นช่วงนั้น มีทั้งการออกข่าวขยายงาน และที่สำคัญ สร้างข่าวฮือฮาเกี่ยวโยงถึงธุรกิจกับ “แจ็คหม่า” เจ้าพ่ออาลีบาบา มาแล้ว
สุดท้าย ปี 61 เจอตลาดหลักทรัพย์ จับส่ง ก.ล.ต.ฟัน กล่าวโทษฐานปั่นหุ้น ร่วมกับพวกอีก 40 คน
เรื่องนี้สะท้านยุทธจักรหุ้น เพราะโดนสั่งปรับรวมเป็นเงิน 1,727.38 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษปรับที่มีวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์
พร้อมๆ กับ คดีเสี่ยอมร ถูกส่งเรื่องให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมทั้งขึ้นบัญชีดำ “อมร” ห้ามเป็นผู้บริหารบริษัทในตลาดทุน 3 ปี เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ ในการเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียน

อมร มีมะโน
ว่ากันว่า “เสี่ยอมร” และพวกไม่ยอมจ่ายค่าปรับ จน ก.ล.ต.ส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการ สั่งฟ้องบังคับชำระค่าปรับ โดยฟ้องเรียกชำระค่าปรับในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ในวงเงิน 2,303.06 ล้านบาท ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2562 มาถึงวันนี้ ยังไม่มีข่าวคืบหน้าใดๆ ในคดีนี้
งานนี้พออาศัยเข้าใกล้ชิดวงในอำนาจรัฐ ได้เป็นข้าราชการการเมือง ก็ไม่รู้ว่าคดีจะถูก “เป่า” หรือไม่!!
แบบนี้จะไม่ให้คนในวงการหุ้น-นักลงทุน เขาช็อกกันได้อย่างไร เพราะนึกไม่ถึง “ครม.ลุงตู่” จะกล้าแต่งตั้ง “เสี่ยอมร” เพราะเป็นคนที่มีมลทิน “คดีปั่นหุ้น” ในตลาดหุ้นติดตัวอยู่แท้ๆ
แถมเรื่องนี้ ยังถือว่า ครม.ทำร้ายทำลายระบบธรรมาภิบาลความโปร่งใส ซึ่งน่าเห็นใจ ตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. ที่ตั้งใจทำงานเต็มที่ รวบรวมหลักฐานปั่นหุ้น จนกล่าวโทษได้แบบเหนื่อยยาก ... ต่อไปนี้ใครจะกล้าทำงานเพื่อปกป้องนักลงทุน เพราะเหนื่อยไปฟรีๆ
อย่างน้อยๆ พวกลุงๆ ก็น่าจะเข้าใจหัวอก เห็นใจเหยื่อที่ถูกขาใหญ่พวกนี้ “ปั่น” จนเสียหายพังพาบ คิดดูก็แล้วกันว่า หุ้น AJA ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 15 สตางค์ จากที่เคยถูกปั่นหุ้นไป 15 บาท และมีนักลงทุนรายย่อยถือหุ้นอยู่กว่า 8,000 คน ซึ่งทั้งหมดน่าจะเสียหายหนักจากหุ้นตัวนี้ เพราะอาจเข้ามาซื้อในช่วงที่มีการปั่น
นี่เรียกว่า จะเอายังงี้กันเลยหรือลุง ไม่ดู ไม่สอบประวัติ ไม่แคร์ ความรู้สึกประชาชนอะไรกันเลย
แว่วว่า รัฐบาลเตรียมมอบหมายงาน “เสี่ยอมร” ให้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะให้เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การค้า การลงทุน โดยเฉพาะ ไทย-จีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ
ก่อนจะให้ต่างชาติเชื่อมั่น วันนี้ถามประชาชนคนไทยก่อนดีมั้ยลุง ว่าเชื่อมั่นกันหรือเปล่า ?

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


** ตรวจแถว ส.ส.- ส.ว. ใครลงคะแนนเสียงอย่างไร ในการโหวตคว่ำร่าง แก้ไข รธน.วาระ 3 หลังถกเถียงกันร่วม 10 ชั่วโมง ว่าโหวตได้ หรือไม่ได้

การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่ม วาระ 3 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยออกมาว่า รัฐสภามีอำนาจจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนทำประชามติก่อนว่า มีความประสงค์จะให้มี รธน.ฉบับใหม่ หรือไม่
ปัญหาคือ ร่างแก้ไข รธน.ที่จะพิจารณาในวาระ 3 นี้ เป็นการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่าง รธน.ใหม่ จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ความเห็นแตกออกเป็นหลายฝ่าย ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาล ส.ว. และฝ่ายค้าน
ในฝ่ายรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ มีความเห็นตรงกับ ส.ว. ว่า การโหวตวาระ 3 ทำไม่ได้ โดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ยื่นญัตติให้สภาส่งศาล รธน.ตีความ ยืนยันว่า ที่ศาล รธน.ระบุว่า การจัดทำ รธน.ใหม่ เป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งหมายถึง ส.ส.- ส.ว. จะไปมอบอำนาจให้ ส.ส.ร. จัดทำไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถโหวตวาระ 3 ได้
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ให้เดินหน้าโหวต วาระ 3 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ยื่นศาล รธน. ตีความอีกครั้ง เพื่อความชัดเจน ในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ว่า ร่าง รธน.นี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หรือ เป็นการจัดทำร่าง รธน.ใหม่ กันแน่
ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน แน่นอนว่า ตั้งธงโหวตวาระ 3 มาตั้งแต่ต้น โดยอ้างว่าไม่มีข้อความใดในคำวินิจฉัยของศาล ที่ระบุไม่ให้ลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3
ด้วยนิสัยคนไทย โดยเฉพาะ “นักการเมืองไทย” ลงว่าได้ถกเถียงกันแล้ว จะไม่ยอมแพ้กันง่ายๆ ดังนั้น ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ต่างก็อภิปรายกันน้ำไหลไฟดับ ต่างเสนอญัตติเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเอง ใช้เวลาไปร่วม 10 ชั่วโมง ในประเด็นเดียวว่าจะโหวต วาระ 3 หรือไม่
สุดท้าย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” หักมุมลุกขึ้นมาตัดจบเอาดื้อๆ ด้วยการเสนอญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาดำเนินการตามระเบียบวาระ เรื่องด่วน (ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ม.256 เพิ่มหมวด 15/1) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว ทำให้ให้ญัตติอื่นๆ ต้องตกไป ...จึงต้องเข้าสู่การโหวตวาระ 3 ไปโดยอัตโนมัติ

 ไพบูลย์ นิติตะวัน - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
เมื่อออกมาในรูปนี้ ทำเอาฝ่ายค้านถึงกับมึนงง เพราะหลงเกมฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่สนับสนุนให้โหวตวาระ 3 มาตลอด กลับแสดงความไพอใจ ถึงกับประกาศว่า จะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหก ปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือ สภาโจ๊ก... จากนั้นก็เดินออกจากห้องประชุม โดยมี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย “วอล์กเอาต์” ตามไปด้วย
ถึงตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมที่จะโหวตกันนี้ “ถูกคว่ำ” แน่ เพราะ พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.ไม่ให้ผ่าน ภูมิใจไทยไม่ร่วมโหวต เหลือเพียงพรรคร่วมฝ่ายค้าน กับประชาธิปัตย์ ที่ยังต้องวัดใจว่าจะเห็นไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายค้านหรือไม่
แล้วร่างแก้ไข รธน. ก็ถูกคว่ำไปจริงๆ ด้วยผลโหวตจาก ส.ส.เห็นชอบ 206 ส.ว. 2 รวม เป็น 208 เสียง, ไม่เห็นชอบ ส.ส.ไม่มี ส.ว. 4 รวม 4 เสียง, งดออกเสียง ส.ส. 10 ส.ว. 84 รวม 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน ส.ส. 9 ส.ว. 127 รวม 136 เสียง ซึ่งคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา หรือ 369 เสียง ร่างแก้ไข รธน. จึงตกไป
คราวนี้มาดูกันว่า ในแต่ละพรรค แต่ละฝ่าย รวมทั้ง ส.ว.โหวตกันอย่างไรบ้าง มีเซอร์ไพรส์หรือไม่ ...
คะแนนเห็นชอบ 208 เสียงนั้น เป็นของ ส.ส. 206 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และประชาธิปัตย์ ส่วนอีก 2 เสียง เป็นของ ส.ว. คือ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” และ “พิศาล มาณวพัฒน์” ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ส.ว.ที่เคยลงมติรับร่างแก้ไข รธน. ฉบับไอลอว์ มาแล้ว
ส่วนคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 4 เสียงนั้น เป็นของ ส.ว.ทั้งหมด คือ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา และ เสรี สุวรรณภานนท์
งดออกเสียง 94 นั้น แบ่งเป็น ส.ส.10 และ ส.ว. 84 ... ส.ส.ที่งดออกเสียง ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน อาทิ กรุงศรีวิไล สุทินเผือก ไพบูลย์ นิติตะวัน ดำรงค์ พิเดช ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขณะที่ ส.ว. ที่งดออกเสียง อาทิ พรเพชร วิชิตชลชัย พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชา จเด็จ อินสว่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ  พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง สมชาย แสวงการ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

วิรัช รัตนเศรษฐ - ชาดา ไทยเศรษฐ์
ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน มี 136 คน เป็น ส.ส. 9 และ ส.ว.127 ...ในส่วนของ ส.ส. อาทิ วิรัช รัตนเศรษฐ จักรพันธ์ พรนิมิตร เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ สุพล จุลใส พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส่วน ส.ว.ที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน อาทิ กล้านรงค์ จันทิก คำนูณ สิทธิสมาน เจตน์ ศิรธรานนท์ พล.อ.นพดล อินทปัญญา พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนสมาชิกที่ไม่ได้ร่วมโหวตนั้นมีจำนวนมาก เนื่องจาก ส.ส.ภูมิใจไทย และ ชาติไทยพัฒนา ที่ “วอล์กเอาต์” แล้ว พบว่า มี ส.ส.อีกกว่า 200 คน และ ส.ว.อีกกว่า 30 คน ที่ไม่แสดงตัวเพื่อลงมติใดๆ เลย อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ปารีณา ไกรคุปต์ สมศักดิ์ เทพสุทิน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ตรีนุช เทียนทอง สิระ เจนจาคะ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์
ที่น่าสนใจคือ มี ส.ส.เพื่อไทย อีก 26 คน ที่สวนมติพรรคด้วยการไม่ยอมโหวตใดๆ เช่นกัน อาทิ การุณ โหสกุล ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ชวลิต วิชยสุทธิ์  น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เช่นเดียวกับ ส.ส.ก้าวไกล บางส่วนที่ไม่โหวต เช่น คารม พลพรกลาง ขวัญเลิศ พานิชมาท นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ซึ่งเป็น ส.ส.งูเห่าในพรรค... ยังมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ไม่ขานชื่อในการลงมติ เช่น สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์
รวมถึง 5 ส.ว.โดยตำแหน่ง จากผู้บัญชาการเหล่าทัพ อย่าง พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ก็หายเงียบ ไม่ร่วมลงมติเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า จากจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่ขณะนี้มี 737 เสียง มีสมาชิกที่ออกเสียง เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพียง 212 เสียงเท่านั้น ที่เหลือ ถ้าไม่งดออกเสียง ก็ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือไม่ก็ ไม่แสดงตัวในการลงคะแนนไปเลย
หรือเกรงว่าจะมีการตามเช็กบิลกันในภายหลัง เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีเสียงขู่มาว่า ถ้าสมาชิกรัฐสภาคนใดโหวตรับการแก้ไข รธน.วาระ 3 จะถูกร้องให้ ป.ป.ช.เอาผิดทันที ฐานทุจริตต่อหน้าที่ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ต้องติดตามกันต่อไปว่า ร่างแก้ไข รธน.ตกไปแล้ว แต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ประชาธิปัตย์ บางส่วนจะเดือดร้อนหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น