“ไพบูลย์” ชี้ร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ต้องตกไป เหตุขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภามอบอำนาจ ส.ส.ร.มีอำนาจเด็ดขาดอิสระจากรัฐสภาไม่ได้
วันนี้ (13 มี.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะผู้ยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กล่าวว่า ตามที่สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งในตุลาการฯ เสียงข้างมาก 8 ราย ดังมีส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยส่วนตนว่า
“พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐสภาย่อมมีหน้าที่และอาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นอำนาจที่แตกต่างจากอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติตามปกติ เนื่องจากเป็นอำนาจสำคัญที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย ในกรณีเช่นนี้ รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด ไม่อาจใช้อำนาจนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดข้อห้ามแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานของประเทศ หรือดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการโอนอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไปให้องค์กรอื่นเป็นผู้กระทำการแทน (โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีอำนาจเด็ดขาดอิสระจากรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ได้”
และคำวินิจฉัยส่วนตนปรากฏบทสรุปข้อ 3 “รัฐสภาเท่านั้นเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการ โดยอาจแต่งตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ได้ แต่มิใช่มอบอำนาจให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำเนินการอย่างเป็นอิสระเด็ดขาดจากรัฐสภา เพราะที่มาของ ส.ส.ร.ดังกล่าวแม้จะเป็นอย่างเดียวกับการได้มาซึ่ง ส.ส. แต่ ส.ส.ร.ก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัฐสภา ดังนั้น เมื่อมี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงเพื่อมาทำหน้าที่เดียวกันอีก”
นายไพบูลย์กล่าวว่า คำวินิจฉัยส่วนตนนี้ชี้ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระที่ 2 รอลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ได้บัญญัติให้รัฐสภามอบอำนาจให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงดำเนินการอย่างเป็นอิสระเด็ดขาดจากรัฐสภา จึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งในตุลาการฯ เสียงข้างมาก 8 ราย
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตนได้แสดงความเห็นไว้ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ว่ารัฐสภายังไม่มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะมีขึ้นต่อเมื่อประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นรัฐสภาจึงจะมีหน้าที่และอำนาจในจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่ต้องดำเนินการเอง ไม่สามารถมอบอำนาจให้ ส.ส.ร.มาดำเนินการแทนได้ตามร่างรัฐธรรมนูญที่รอพิจารณาในวาระที่ 3 ดังนั้น ความเห็นส่วนตนจึงไม่สามารถโหวตเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น