xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ยันดูแลชาวบางกลอยเต็มที่ ให้มีที่อยู่ที่ดินทำกิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรี ยืนยันดูแลชาวบางกลอยอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีที่อาศัย ที่ดินทำกิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ หาทางออกให้คนอยู่ได้และป่าอนุรักษ์ก็อยู่ได้

วันนี้ (12มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี - PMOC ได้โพสต์ข้อความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงในประเด็นการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านบางกลอยมาโดยตลอดและพยายามดูแลอย่างเต็มที่เพื่อให้ชาวบางกลอยมีที่อาศัยและที่ดินทำกินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยได้รับการจัดสรรที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ 3 งาน มีผู้ถือครองที่ดินจำนวน 260 ราย 337 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1,890 ไร่ และจากการเชิญทูตจาก 10 ประเทศประจำประเทศไทย IUCN ผู้แทนรัฐภาคีสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ก็ได้เห็นการจัดการของเจ้าหน้าที่ การทำงาน และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทุกประเทศต่างก็มีความพอใจการทำงานที่ได้ไปพบเห็นมาและชื่นชมในความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 59 คนที่แสดงเจตจำนงที่จะทำไร่หมุนเวียนที่บริเวณบางกลอยบน ทั้งหมด 36 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 15 ไร่ โดยหมุนเวียนเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยไม่ซ้ำที่เดิม และสามารถเลือกทำบริเวณใดก็ได้นั้นอาจหมายถึงการสูญเสียพื้นที่จำนวน 5,400 ไร่ แบบไม่สามารถเจาะจงพื้นที่ได้ในบริเวณใจแผ่นดิน พื้นที่ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องพิจารณาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กับการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีศักยภาพในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกอาเซียนตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยมรดกโลกด้วย

ในระหว่างนี้ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาหาข้อสรุป ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะพยายามดำเนินการหาทางออกอย่างสมดุลเพื่อให้คนอยู่ได้และป่าอนุรักษ์ก็อยู่ได้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 (2) ที่ให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิทั้ง “ใช้ประโยชน์” และ “บำรุงรักษา” ทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลและยั่งยืน และกลุ่มชาติพันธุ์ได้ทำหน้าที่ในการร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (8) ด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น