xs
xsm
sm
md
lg

498 อปท.สอบตกคุณธรรมโปร่งใส ปี 63 นับร้อยคะแนนเป็นศูนย์ เหตุไม่เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ป.ป.ช.จี้รัฐให้ความสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป.ป.ช.แจ้ง ครม. ย้ำ! หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะต่ำ ฉุดรั้งคุณธรรม-ความโปร่งใสปี 63 ในภาพรวมระดับประเทศ แถมพบ อปท.498 แห่ง สอบตกกว่า 180 แห่ง คะแนนเป็นศูนย์เรื่องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ยันรัฐต้องให้ความสำคัญ 6 ประเด็น เปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ

วันนี้ (9 มี.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ไทย ปี 2563 ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มาตั้งแต่ปลายปี 2563 พบว่า ในภาพรวมระดับประเทศ หน่วยงานภาครัฐ 8,303 แห่งทั่วประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมประเทศอยู่ที่ 67.90 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.15 คะแนน โดยหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 1,095 หน่วยงาน หรือร้อยละ 13.19

โดยพบว่า องค์กรปกครองสว่นท้องถิ่น (อปท.) ที่คะแนนสูงสุด คือ องค์การบริหารส่วนตำบลนครสวรรค์ออก เมืองนครสวรรค์ 99.52 คะแนน โดยที่ อปท.ที่คะแนนต่ำสุด คือ องค์การบริหารส่วนตำบลสะอาด อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด 28.16 คะแนน

“มี อปท.ถึง 498 แห่ง ที่คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน และมี อปท.ขนาดใหญ่ เช่น เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้ 49.99 คะแนน เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้ 49.73 คะแนน เทศบาลเมืองนครนายก ได้ 48.65 คะแนน และเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ได้ 46.22 คะแนน และที่น่าสนใจ มี อปท.มากกว่า 180 แห่ง ได้คะแนน 0.00 ในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ”

สำหรับตัวชี้วัดที่ฉุดรั้งผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในภาพรวมระดับประเทศ คือ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่ครบถ้วน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ 6 ข้อเร่งด่วน เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและการป้องกันการทุจริต เช่น เร่งปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ภาครัฐ, กำหนดตัวชี้วัดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

ภาครัฐต้องสนับสนุนการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ (User Interface) ที่เหมาะสม, สร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ, สนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อออนไลน์ และกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการให้บริการสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น