ม็อบ 28 ก.พ. เข้าตากรรมการเต็มๆ “อดีตผู้บริหาร มธ.” ฟันธง ไม่ใช่สันติ อหิงสา! “ปวิน-ทอน” ดันทุรังป้ายสีรัฐไม่ลืมหูลืมตา “ศักดิ์เจียม” ชี้ไม่มีแกนนำ ไม่ใช่ไอเดียที่ดี แนะเลิก! “อดีตบิ๊ก ศรภ.” ชี้ 5 จำพวกคดีจ่อคอหอย?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (1 มี.ค. 64) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ม็อบ 28 ก.พ. โดยกลุ่ม REDEM หรือ Restart Democracy (ชื่อใหม่ของกลุ่ม เยาวชนปลดแอก) ไม่เพียงแต่เป็นม็อบที่ไร้แกนนำ หรือไร้ผู้นำเท่านั้น แต่ยังเป็นม็อบที่ไร้สาเหตุ ไร้วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนอีกด้วย
อยากจะเรียกว่า “ม็อบหาเรื่อง” มากกว่า เพราะอยู่ดีๆ ก็นัดชุมนุมไปบ้านพักนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในค่ายทหาร ถามกันว่า ไปทำไม ไปทำอะไร ไม่เห็นมีใครตอบให้ชัดเจนได้
จะไล่นายกฯ ให้ลาออก ก็ล้าสมัยแล้ว จะให้แก้รัฐธรรมนูญ เขาก็กำลังแก้กันอยู่ในสภา เหลืออยู่เรื่องเดียว คือ เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็มีคนไม่เห็นด้วยมากเหลือเกิน ที่อ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน น่ะไม่ใช่แล้ว
ม็อบนี้จึงเหมือนม็อบที่จำเป็นต้องจัด เพื่อสร้างผลงาน เพื่อเลี้ยงกระแส เพื่อทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย หรือเพื่ออะไรและเพื่อใครก็ไม่ทราบได้
แน่นอนว่า เมื่อมีม็อบประกาศจะบุกบ้านนายกรัฐมนตรี ตำรวจคงปล่อยให้บุกเข้าไปโดยไม่ขัดขวางไม่ได้ นี่ไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพ เพราะไม่มีใครในประเทศไหนที่จะมีเสรีภาพในการคุกคามผู้อื่น เสรีภาพในการทำลายของส่วนรวม หรือเสรีภาพในการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือด่าผู้อื่นได้ การกระทำทั้งหมดของม็อบ จึงเป็นการทำผิดกฎหมายหลายฉบับอย่างชัดแจ้ง
เมื่อตำรวจตั้งแนวขัดขวาง บรรดาการ์ดและผู้ชุมนุมบางคนก็ทำลายสิ่งกีดขวางโดยไม่ลังเล มีการขว้างปาสิ่งของ รวมทั้งระเบิดควันใส่ตำรวจ มีผู้ชุมนุมคนหนึ่งถึงกับยืนปัสสาวะอยู่บนที่สูง พยายามให้รดหัวตำรวจ มีการทุบรถที่จอดอยู่ และเห็นว่า มีการเผารถตำรวจด้วย
เมื่อเป็นอย่างนี้ การปะทะกัน ไม่มากก็น้อย จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
ตำรวจแม้จะถอย แต่ก็ไม่สามารถจะปล่อยให้ม็อบผ่านไปได้ จึงมีการตอบโต้ โดยใช้รถฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา และอาจมีการใช้กระสุนยาง
น่าเศร้าใจที่มีนายตำรวจเสียชีวิต ในเหตุการณ์นี้เนื่องจากหัวใจวาย 1 คน
นี่ไม่ใช่การชุมนุมที่มีอารยะ ไม่ใช่การชุมนุมที่สันติ อหิงสา
น่าแปลกใจที่บรรดาผู้เชียร์ม็อบ 3 นิ้วทั้งหลาย ต่างออกมาโจมตีตำรวจอย่างสาดเสียเทเสีย จนเกินจริง โดยมองด้านเดียว หรือรับได้แต่ข้อมูลด้านเดียว ไม่มองสักนิดว่าผู้ชุมนุมทำอะไรตำรวจบ้าง และไม่คิดสักนิดว่าตำรวจต้องทำตามหน้าที่ และได้พยายามไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว หรือนี่จะเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า echo chamber ซึ่งหมายถึงการที่เรามองเห็น หรือได้ยินเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อ หรือสอดคล้องความมีอคติ (bias) ของตัวเอง เท่านั้น
คำถามที่ต้องถามคือ ในขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมแต่ละครั้งในระยะหลังมากันค่อนข้างน้อย แทบจะเรียกว่า มากันแต่ขาประจำ อีกทั้งยังเป็นช่วงการระบาดของโควิด เพราะอะไรม็อบจึงยังไม่ยอมหยุดรอ เพื่อให้มีเงื่อนไขที่สุกงอมก่อน ทำไมจึงยังดันทุรังนัดชุมนุม และทำในสิ่งที่สมควรถูกประณาม อยู่เรื่อยๆ เช่น แอบเผาพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีอะไรหรือที่ทำให้ไม่สามารถรอโอกาส และสถานการณ์ที่เหมาะสมกว่านี้ได้
ยากที่จะเชื่อได้ว่า เป็นเพราะยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยล้วนๆ
ต้องมีอะไรบางอย่างที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เพียงแต่ยังไม่สามารถทราบได้ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร
หวังว่า เราจะได้ทราบความจริงในเวลาที่ไม่นานเกินรอ”
ขณะเดียวกัน นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และในฐานะลี้ภัยการเมืองในญี่ปุ่น โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์เกี่ยวกับสถานการณ์ม็อบ 28 ก.พ.เช่นกัน ระบุว่า
“กองทัพไทยกำลังแข่งกับกองทัพพม่า ใช้กระสุนและแก๊ซน้ำตา ทำร้ายประชาชน #ม็อบ28กุมภา”
เช่นเดียวกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า
“ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เขาต้องการกดขี่ประชาชนไว้เพื่อรักษาอำนาจของตนเองต่อไป - รัฐบาลที่ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน หนำซ้ำก่อความรุนแรงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้ ย่อมเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว #ม็อบ28กุมภา”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ศรภ. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“ม็อบชื่อใหม่ redem”
ม็อบวันนี้ มีประมาณ 500 คน การ์ดอีกประมาณ 100 คน
ม็อบบุกเข้าไปทำลายเครื่องกีดขวาง บางคนดื่มน้ำเมาย้อมใจมาแล้ว
ทำตัวตกต่ำ ปีนขึ้นไปยืนทำท่าเหมือนปล่อยทุกข์ใส่เจ้าหน้าที่
บางคนทำร้าย จนท. พกพา ท่อนไม้ ท่อนเหล็ก และพกพาอุปกรณ์คล้ายอาวุธ ฯลฯ
จนเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้วิธีสลายการชุมนุม ด้วยการประกาศเตือนก่อน แล้วฉีดน้ำ ตามด้วยแก๊สน้ำตา จึงจะสามารถทำให้แกนนำที่แอบอยู่ในที่ชุมนุม จำเป็นต้องหาทางยุติการชุมนุม เพราะคนทั้ง 5 จำพวกเหล่านี้ คงไม่แคล้วต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายแน่นอน เสียดายอนาคตครับ
ถ้าไม่ได้ตังค์มาเป็นล้านก็ไม่น่าจะคุ้ม ใช่ไหมครับ
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ร่วมละเมิดกฎหมายอีก อาทิ :
1. คนที่ควบคุมเพจและสื่อที่ชักชวนให้คนเข้ามาชุมนุม
ย่อมมีความผิดทางกฎหมายด้วย คล้ายเข้ามาชุมนุมเอง
2. พวกที่ขึ้นไปพูดบนรถทุกคน
3. พวกที่บุกเข้าไปรื้อสิ่งกีดขวางต่างๆ
4. คนที่เข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ในลักษณะต่างๆ แล้วก็ทำเป็นวิ่งหนี แหกปากว่า ตำรวจทำร้ายประชาชน
5. คนที่โพสต์ข้อความต่างๆ ที่ยุยง หรือเป็นเท็จเพื่อเรียกร้อง
ให้คนเข้าไปชุมนุม เช่น “มาชุมนุมเป็นล้านแล้ว” “เจ้าหน้าที่กวาดล้างอย่างโหดเหี้ยม” ฯลฯ
เมื่อถูกจับแล้วอย่าไปบ่นว่า ทำไมศาลไม่ให้ประกัน ตำรวจโหด อะไรทำนองนี้ เพราะมาตรฐานการสลายม็อบของประเทศไทยนั้น แสนนิ่มนวล ไม่ว่าประเทศไหนก็ต่อว่าไม่ได้หรอกครับ เพราะของเราดีที่สุดในโลก (หรืออ่อนจริงๆ) เมื่อเทียบกับ สหรัฐฯ ยุโรป พม่า กัมพูชา ลาว ฮ่องกง รวมทั้ง สิงคโปร์ (สิงคโปร์แค่ชูป้ายนิดหน่อยเท่านั้น ก็โดนปรับเสียจนไปเลย ครับ)
นอกจากนี้ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ระบุว่า
“รุนแรงขึ้นทุกวัน
ม็อบไม่มีหัว อ้างแต่ไร้เแกนนำ ม็อบมีแต่ความรุนแรง ทำร้ายตำรวจ ฉี่รดหัวตำรวจ นี่คือม็อบสันติ นี่หรือ ม็อบของปัญญาชน คนที่ออกมาเสี่ยง มาสู้ตามแรงปลุกระดมของแกนนำ ไอ้คนที่อยากเป็นแกน ไม่กล้านำ เป็นแต่อีแอบ ทิ้งมวลชน คนตามก็หลับหูหลับตามไป
ฟังจานเจียมสิ จานเจียมเตือนแล้วนะ ม็อบที่ไม่มีแกนนำ จะมีแต่ความรุนแรง เลิกเหอะ ไร้หัว ไร้ทิศทาง แกนนำ สู้แล้วรวย อย่าให้เค้าหลอก”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ลี้ภัยการเมืองในฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า
“การจัดชุมนุมโดย “ไม่มีแกนนำ” ไม่ใช่ไอเดียที่ดี ผมคิดว่าควรเลิกชุมนุม กลับบ้าน แล้วค่อยว่ากันใหม่ดีกว่า”
แน่นอน, แม้เสียงสะท้อนของ นายปวิน และ นายธนาธร จะเน้นในเรื่องยุทธศาสตร์ มากกว่าข้อเท็จจริง และยังคงเอียงข้าง ม็อบ 3 นิ้ว ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่ม็อบก่อความรุแรง ทั้งยังหลับหูหลับตาป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรง จนน่าสงสัยว่า คนอย่างนี้หรือ ที่เสนอตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง คนอย่างนี้หรือ ที่เสนอตัวเป็นผู้นำคนรุ่นใหม่?
ส่วนเสียงสะท้อนอื่น ล้วนมองในมุมที่ม็อบก่อให้เกิดความรุนแรง เพราะเป็นฝ่ายยั่วยุ เป็นฝ่ายเข้าปะทะ และขว้างปา อะไรต่อมิอะไรใส่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งพยายามที่จะฝ่าฝืนแนวป้องกันด้วยความรุนแรง ฯลฯ
แม้แต่ สมศักดิ์ เจียมฯ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่า สนับสนุนม็อบ 3 นิ้วมาตลอด ก็ยังออกมาเตือน ว่า ม็อบไร้แกนนำ และ การใช้ยุทธวิธี ม็อบโดยไม่มีแกนนำ ไม่ใช่ไอเดียที่ดี เพราะรังแต่จะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ ควรยุติเอาไว้ก่อน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังมีคนอย่าง ปวิน อย่าง ธนาธร คอยยุยงส่งเสริม ใช้วาทกรรมที่ลอกเลียนนักประชาธิปไตย มากล่าวอ้างล่อหลอก ตราบนั้น ม็อบ 3 นิ้ว ก็พร้อมที่จะเดินหน้า ท้าทายความรุนแรงเช่นเคย ไม่เชื่อคอยดู!!!