xs
xsm
sm
md
lg

กสม.มอบรางวัลสิทธิดีเด่น 63 เปรียบสิทธิคืออากาศ ขาดไปจะรู้สึกไม่มั่นคง จี้แก้ กม.คืนสถานะ A

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม. มอบรางวัล 7 องค์การ-บุคคลมีผลงานดีเด่นด้านสิทธิฯ 63 ชี้ สิทธิเหมือนอากาศมองไม่เห็น แต่หากขาดจะรับรู้ถึงการคุกคาม ความไม่มั่นคง ปลอดภัยในชีวิต วอนให้ความสำคัญสิทธิตัวเองและเคารพสิทธิผู้อื่น จี้แก้ กม.สิทธิฯให้ไทยคืนสถานะ A


วันนี้ (23 ก.พ.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2563 โดยนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เพราะชีวิต คือ สิทธิมนุษยชน” ว่า กสม. จัดงานวันสิทธิมนุษยชนขึ้นทุกปี เพื่อร่วมแสดงพลังแห่งภราดรภาพในการระลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศสภาพ ภาษา ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือความเห็นอื่นใด ซึ่งถือเป็นหัวใจของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตลอดเวลาเกือบ 6 ปีที่ กสม. ชุดที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และดำเนินการสะสางคำร้องไปมากกว่า 2,000 เรื่องนั้น เราพบกรณีมากมายที่ยืนยันว่า “สิทธิมนุษยชน” เป็นเหมือนอากาศที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่รู้สึก แต่หากเมื่อใดที่ชีวิตขาดซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแล้ว เราก็จะรับรู้ถึงการคุกคาม การขาดความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต อย่างไรก็ตาม บางสิทธิอาจมีการปะทะแย้งกัน ซึ่ง กสม. ต้องชั่งน้ำหนักในการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้ข้อเสนอแนะให้กำหนดให้สารเคมี “พาราควอต” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งแม้การใช้พาราควอตในภาคการเกษตรจะเป็นเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 40 แต่มาตรา 55 ก็บัญญัติให้รัฐต้องดูแลและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่กำหนดให้รัฐภาคีรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ ข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องพาราควอต ได้รับการสนองตอบที่ดีจากผู้ที่เกี่ยวข้อง


ประธาน กสม. ยังได้กล่าวถึงการเข้ารับการประเมินเพื่อขอเลื่อนสถานะจาก B เป็น A กับคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(GANHRI) ว่า หลังการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 SCA ได้แจ้งมติเลื่อนการพิจารณาการประเมินสถานะของ กสม. ไทยออกไป 18 เดือน แม้ว่า กสม. จะมีผลงานในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นที่ประจักษ์ แต่การให้คืนสถานะ A ยังไม่อาจทำได้ด้วยข้อกังวลใจ 2 เรื่อง คือ หน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 247(4) ที่กำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ในลักษณะเสมือนการแก้ต่างแทนรัฐดังกล่าว นำไปสู่ข้อกังวลในเรื่องความเป็นอิสระที่แท้จริงของ กสม. แม้ว่า กสม. จะยืนยันว่า ภายใต้การทำหน้าที่นี้ไม่อาจถูกแทรกแซงจากบุคคลหรือหน่วยงานใดได้และประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของ กสม. ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งกฎหมายเดิมเคยกำหนดให้ กสม. ทำหน้าที่นี้ได้ แต่กฎหมายปัจจุบันได้ตัดหน้าที่นี้ออก ทำให้ กสม. ไม่อาจช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างรวดเร็ว แต่น่ายินดีที่เร็วๆ นี้ วุฒิสภามีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดยเพิ่มหน้าที่และอำนาจให้ กสม. สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งหลัง กสม. ชุดปัจจุบันพ้นหน้าที่ไปแล้ว ขอฝากไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และภาคประชาชน ให้ช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนในความเป็นอิสระของ กสม.โดยเร็ว เพื่อให้ กสม. ได้กลับคืนสู่สถานะ A อันจะเป็นศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาชาวโลก


ทั้งนี้ กสม.ยังได้มอบรางวัลให้บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2563 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 รางวัล ประกอบด้วย 1. สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง หน่วยงานในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่นำมิติสิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชน มาบูรณาการการทำงานในการป้องกัน ดูแล แก้ไขและฟื้นฟูเด็กและเยาวชนภายใต้กระบวนการยุติธรรม ให้มีโอกาสปรับพฤติกรรมและเพื่อเพิ่มประสิทธิผลด้านการลดการกระทำผิดซ้ำ

2. โครงการสี่หมอชายแดนตาก

ซึ่งเป็นความร่วมมือของโรงพยาบาลอุ้มผาง โรงพยาบาลแม่ระมาดโรงพยาบาลท่าสองยาง และ โรงพยาบาลพบพระ เพื่อให้บริการสาธารณสุขแก่ทุกคนในพื้นที่โดยเฉพาะสิทธิในสุขภาวะของคนชายแดนที่เปราะบาง คนด้อยโอกาส ภายใต้หลักคิด “Health for All” การให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิด้านบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม และไม่ควรมีผู้ใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รักษาและเยียวยา ตั้งแต่เกิดจนตาย

3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ผู้ขับเคลื่อนให้มีการบรรจุรายวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Studies) ไว้ในหลักสูตร เพื่อให้มีการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยแนวคิดว่าการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และการตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนจะเป็นวิถีทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือการทำงานของทุกภาคส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์

อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ทำงานส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ มายาวนานกว่า 20 ปี เป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างกลไกการเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์ที่มีคุณภาพ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เน้นการทำงานแบบพหุภาคีระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม สามารถพัฒนาต่อยอดและบูรณาการสิทธิการรักษาของผู้ป่วยเอดส์ให้เข้าระบบของรัฐ เช่น กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ

5. นางอรนุช ชัยชาญ

นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิจิตร

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย

ผู้มุ่งมั่นในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การคุ้มครองเด็กและสตรีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

6. นายเกรียงไกร ไชยเมืองดี

เลขาธิการและผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์เด็ก

ผู้ดำเนินงานด้านสิทธิเด็ก โดยยึดฐานคิดจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มเด็กที่เสียเปรียบในสังคม กลุ่มเด็กเปราะบางในชุมชนพื้นที่ชนบทห่างไกล

7. นายสุนทร สุนทรธาราวงศ์

ประธาน มูลนิธิบ้านพระพร

ผู้ดำเนินงานการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้พ้นโทษเป็นเวลากว่า 40 ปี เพื่อหยุดยั้งต้นเหตุแห่งปัญหาการกระทำผิดซ้ำ














กำลังโหลดความคิดเห็น