xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ” โหน “คลับเฮาส์” ประเดิม ฟุ้งอดีต “ทรท.” ถาม “ตากใบ-กรือเซะ” จำไม่ได้ “จอม” ถึงบางอ้อ ภาคใต้ไม่โต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร ขอบคุณภาพจาก line today
“ทักษิณ” อินเทรนด์ โหน “คลับเฮาส์” ห้อง “ไทยรักไทย ใครเกิดทันมากองตรงนี้” ฟุ้ง “ประชานิยม” ช่วยจำคนไทย ถาม “ตากใบ-กรือเซะ” จำไม่ได้ “จอม” ถึงบางอ้อ ทำไมภาคใต้ไม่โต “เพจนักข่าว” วิเคราะห์เหตุรุนแรง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 ก.พ. 64) เฟซบุ๊ก Jom Petchpradab ของนายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา โพสต์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนีโทษและคดีอยู่ต่างประเทศ เข้าร่วมพูดคุยในห้อง “ไทยรักไทย ใครเกิดทันมากองตรงนี้” ของ “คลับเฮาส์” ว่า

“ทำไม..ทักษิณ จึงไม่อาจสร้างคะแนนนิยมจากการแก้ปัญหาภาคใต้ได้ในหลายๆ เรื่อง Nattharavut Kunishe Muangsuk ได้อธิบายพัฒนาการความรุนแรงภาคใต้ ได้อย่างเป็นระบบ ชัดเจนตามข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงมาตลอดตั้งแต่ 2547 ถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะมิติที่สัมพันธ์กับรัฐบาลทักษิณ

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ต่างหากที่ควรจะถูกตั้งคำถาม และควรถูกคาดหวังในการแก้ปัญหาเพื่อยุติความรุนแรงในสามจังหวัดใต้ ขณะที่เป็นรัฐบาลซึ่งรวมแล้วยาวนานกว่า ครม.ทักษิณอีก เพราะมีศักยภาพทั้งในแง่ของพื้นที่ ตัวบุคคล ประสบการณ์ และผลประโยชน์โดยตรงทางการเมือง

ขณะที่...ครม.ทักษิณ และตัวคุณทักษิณเองไม่ได้วางนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้อย่างสอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริง ด้วยเพราะตัวเองไม่ลึกซึ้งในมิติของปัญหาภาคใต้ ส่วนใหญ่ จึงมอบอำนาจให้คนที่รู้จริง แม้กระทั่งให้ คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ที่ไม่ชอบขี้หน้าทักษิณเลย มาเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์และมีอิสระ มีอำนาจเต็มในเรื่องนี้

ดังนั้น หากจะมองอย่างเป็นธรรมและเป็นจริง สังคมไทยควรจะคาดหวังการยุติปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ จาก ประชาธิปัตย์ มากกว่า

แต่เนื่องด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาธิปัตย์ เป็นประชาธิปไตยซ่อนรูป เล่นการเมืองเพื่อปกป้องชนชั้นปกครอง และต้องการสร้างรัฐราชการ และในพื้นที่เองความเป็นประชาธิปัตย์ ก็มีส่วนอย่างสำคัญที่เป็นการเพิ่มเชื้อไฟให้กับความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ (https://www.facebook.com/nattharavutm/posts/10159155036793582)

ภาพ นายจอม เพชรประดับ จากแฟ้ม
ทั้งนี้ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ของ Nattharavut Kunishe Muangsuk ระบุว่า

“เห็นคนตื่นเรื่องตากใบกันอีกรอบ หลังจากทักษิณ ชินวัตร เข้ามาพบปะแฟนๆ ในคลับเฮาส์ ผมก็เกิดคำถามว่า แล้วเราจะไปต่อกันยังไง?

ประเด็นนี้ ผมสื่อสารมาตลอดว่า สังคมไทย 2547 กับสังคมไทย 2564 มันแตกต่างกันมากจริงๆ ถึงตอนนี้เรื่องราวชายแดนใต้มันเปิดกว้างเรื่องข้อเท็จจริงมากขึ้น ความเข้าใจมันถูกสื่อสารกันมายาวนาน คนรุ่นใหม่ที่ตระหนักต่อสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมันมาพร้อมกับกระแสต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยด้วย

แต่ปี 2547 มันไม่ใช่ ในสำนึกของคนไทยขณะนั้น 3 จังหวัดภาคใต้มันอยู่ในโลกของโจรใต้ แยกดินแดน พูโล บีอาร์เอ็น มันเพิ่งผ่านเหตุการณ์ปล้นปืน 4 มกราคม ทักษิณหล่นวาทกรรม “โจรกระจอก” ผ่านเหตุการณ์กรือเซะ 28 เมษายน สังคมไทยตื่นตัวกับ “ก่อการร้าย” พอมาถึงเหตุการณ์ตากใบ ทั้งหมดมันเกิดในปีเดียวกัน

ยอมรับกันเถอะว่า มันมีใบอนุญาตให้ปราบปรามรุนแรงจากสังคมขณะนั้นด้วย คนมลายูเคยมีฝันร้ายจากสังคมไทย ถูกเดียดฉันท์ ถูกป้ายสีใส่ร้าย ฝ่ายความมั่นคงเลยไม่สน ทหารจึงไม่แคร์ ไม่แปลกที่ทักษิณในฐานะผู้นำรัฐบาลตอนนั้นมาบอกตอนนี้ว่า “จำไม่ได้แล้ว” เพราะตอนนั้นยกอำนาจตัดสินใจให้กองทัพดำเนินการเต็มรูปแบบ (พูดง่ายๆ คือ ถูกกองทัพครอบงำนั่นแหละ โดยเฉพาะ (พลเอก) พัลลภ ปิ่นมณี ที่ผ่านเหตุการณ์คุมปราบกรือเซะ รวมไปถึงรัฐตำรวจที่ตัวเองสร้างขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาให้ชายแดนใต้)

และหลังลี้ภัยไม่นาน ผมไม่แน่ใจว่าทักษิณจำได้ไหมว่าตนเองเคยให้สัมภาษณ์กับนิวสเตรทไทม์ ว่า “ผมเสียใจที่ใช้กำปั้นเหล็กแทนถุงมือกำมะหยี่” กับคำถามที่เลือกใช้แนวทางความรุนแรงแก้ไขปัญหาภาคใต้

ทักษิณตอนนั้นก็คงเหมือนกับคนไทย ณ ตอนนั้น แต่ผมเชื่อลึกๆ ว่า มนุษย์ที่ผ่านเหตุการณ์ที่ก่อผลกระทบรุนแรง ย่อมตั้งคำถามกับการตัดสินใจของตัวเอง และธรรมชาติของมนุษย์ย่อมต้องการโอกาสแก้ตัวครั้งที่สอง

โลกของชายแดนใต้ มันก้าวมาไกลมากๆ ประเด็นสิทธิมนุษยชนมันผ่านการต่อสู้มาอย่างหนักหน่วง หลายคนถึงขั้นเจ็บตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ใช่แค่กับกองทัพ แต่กับสังคมไทยเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา ก็ปล่อยให้ล่าแม่มด ใช้อคติตัดสินมากกว่าเหตุผล อย่างผมเองก็โดนด่าเป็นพวกนักข่าวเชียร์โจร ทั้งที่เรายกประเด็นผลกระทบกับคนธรรมดา

ผมลงพื้นที่ตากใบนับไม่ถ้วน และแต่ละครั้งเราจะเห็นความคิดของคนที่ผ่านเหตุการณ์ ทั้งคนที่เป็นญาติคนตาย และคนที่เห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมขาดใจตายต่อหน้าต่อตาเปลี่ยนแปลงไป หลายคนปล่อยวางความเจ็บแค้นลงไปมากและพร้อมก้าวต่อไป แต่ในเส้นขนานกันนั้น คนมลายูรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเรื่องเล่าชุดเดิม และเผชิญกับปฏิบัติการอย่างไร้ความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐซ้ำๆ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยที่ตัดสินอย่างขาดไร้ความเป็นธรรม คือ สิ่งกระตุ้นให้นักรบรุ่นใหม่ๆ อีกมากตัดสินใจลงสู่สมรภูมิในห้วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

อันนี้มันไม่ใช่แค่ตากใบอีกแล้ว และไม่ใช่แค่ทักษิณ แม้แต่รัฐบาลสุรยุทธ์ (ที่เคยเอ่ยปากขอโทษกรณีตากใบ) สมัคร สมชาย อภิสิทธิ์ ฯลฯ ทุกเหตุการณ์หลังจากนั้นมันคือเชื้อไฟ ทั้งอุ้มซ้อมทรมาน อุ้มฆ่า ยิงทิ้งรายวัน กราดยิงใส่มัสยิดอัลฟุรกอน ฯลฯ และเราก็รู้ว่า กองทัพไทยก็ยังปฏิบัติการแบบใช้การเมืองซ่อนรูปการทหาร เวทีเจรจาเป็นพิธีกรรมใช้งบประมาณมากกว่าอยากจบจริงๆ และยังใช้ IO อย่างแพร่หลายเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม นักสิทธิมนุษยชน และสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง (ปัจจุบันยิ่งใช้หนักขึ้นลามมาถึงภาคการเมือง เพื่อปกป้องรัฐบาลประยุทธ์ และขยายแนวคิดชาตินิยม)

พวกนี้ต่างหากที่เป็นศัตรูการเติบโตของสังคม บางชุดคำถามก็มีคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง เช่น เหตุใดวันที่ทักษิณหมดอำนาจ ก็ไม่มีการไต่สวนความผิดไปถึงผู้สั่งการ กระบวนการยุติธรรมดูเหมือนจงใจไม่มีการไล่บี้เอาผิดทักษิณและผู้นำกองทัพขณะนั้น นั่นเพราะปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลอีกแล้ว แต่มันคือแนวคิดที่ซึมลึกในอุดมการณ์รัฐชาติ จึงน่าเศร้าที่รัฐไทยยอมรับผิดความผิดต่อชนกลุ่มน้อยไม่ได้ เป็นโครงสร้างบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ที่ต้องรื้อทิ้ง

เราควรไปต่อกันยังไง นี่ควรจะเป็นโจทย์หลัก คนตากใบที่ผ่านเหตุการณ์นั้นอาจเสียชีวิตไปหลายคน คนที่ยังอยู่บาดแผลเริ่มจางลง แต่คนอีกมากยังจดจำและเล่าขานต่อไป ชายแดนใต้ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐไทยที่การพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ ยังเป็นเรื่องต้องห้าม ยังใช้นโยบายกลืนกินและบีบบังคับให้ยึดกฎหมายที่ขาดพัฒนาการ ชะตากรรมชาวมลายูในอดีตไม่ได้ต่างกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยตอนนี้ นั่นคือสิ่งที่รัฐไทยถนัด และทำมาโดยตลอด

อย่างเดียวที่ยังเป็นความหวัง คือการเรียนรู้และขยายแนวคิดเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ลดความเป็นไทยเพิ่มความเป็นมนุษย์ คนที่เติบโตแล้วต้องช่วยกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตัวเองจริงๆ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเราต้องไม่ให้มีสังคมไทยแบบปี 2547 อีกแล้ว”

ทั้งนี้ เมื่อค่ำวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มแคร์ เปิดห้องใน Clubhouse ตั้งชื่อห้องพูดคุยว่า “ไทยรักไทย ใครเกิดทันมากองตรงนี้” โดยมีผู้พูด เช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.สาธารณสุข นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย และผู้พูดคนสำคัญคือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการพูดคุยกันถึงนโยบายประชานิยม ทั้งหลาย ที่มีส่วนทำให้อดีตพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างสูง รวมทั้งเรื่องอื่นๆ แล้ว

มีผู้ร่วมพูดคุยรายหนึ่ง ถามถึงเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ ในปี 2547 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นายทักษิณ ตอบว่า ที่กรือเซะ ส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของทหาร ผมเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก็รับรายงาน แต่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้มากมาย เข้าใจอะไรได้มากมาย ก็เสียใจที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น จำไม่ค่อยได้ จำได้ว่ามีการยิงปะทะกันมากกว่า จำไม่ค่อยได้ แต่ก็เสียใจกับสิ่งที่เหตุการณ์...

ภาพ ผู้นำศาสนา ประชาชน นักเรียน ในพื้นที่ตากใบ ร่วมแสดงพลังต่อต้านความรุนแรง เมื่อ 7 ก.ย. 2559
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิด เพจเฟซบุ๊ก The MATTER เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2020 ได้ย้อนรำลึกเอาไว้ว่า

“...25 ตุลาคม พ.ศ.2547 (สมัยรัฐบาลทักษิณ) เกิดเหตุชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าส่งมอบอาวุธให้ผู้ก่อความไม่สงบ มีการปาสิ่งของ เช่น ก้อนหิน เศษไม้ เข้าใส่เจ้าหน้าที่ และพยายามจะบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจึงใช้การฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และใช้อาวุธจริงยิงตอบโต้

จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ราย ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย ที่น่าสลดก็คือ มีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมและนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่อยู่ห่างออกไปราว 150 กิโลเมตร โดยรถบรรทุกทหาร 26-28 คัน ที่ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ถึง 78 คน

โดยผลชันสูตรพบว่า หลายคนขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการนอนซ้อนทับกันระหว่างขนย้ายไปยังค่ายทหาร...”

ส่วนเหตุการณ์กรณีกรือเซะ ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 ในขณะที่กองทัพภาคที่ 4 ประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา เกิดความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยที่มัสยิดกรือเซะเกิดเหตุการณ์รุนแรงมากที่สุด กล่าวคือมีผู้เสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ มากถึง 34 ศพ รองลงมาคือที่อำเภอสะบ้าย้อย มีผู้เสียชีวิตรวม 19 ศพ อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา 17 ศพ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี 13 ศพ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 12 ศพ อำเภอบันนังสตา 8 ศพ อำเภอธารโต 5 ศพ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 2 ศพ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บาดเจ็บสาหัส 4 ราย โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกระจายกันโจมตีฐานตำรวจ-ทหาร 12 จุด รวมทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต 113 ศพ ผู้ก่อการร้าย 108 ศพ เจ้าหน้าที่ 5 ศพ

แน่นอน, ดูเหมือน “ทักษิณ” จงใจฉวยโอกาสปล่อยของผ่าน “คลับเฮาส์” ที่กำลังได้รับความนิยมของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ประชาธิปไตย” โดยเฉพาะการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับอดีตพรรคไทยรักไทย ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่ “ทักษิณ” ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตทางการเมืองก็ว่าได้

และยังเป็นยุคที่ทำให้คนไทย จดจำ “ทักษิณ” และนิยมในตัว “ทักษิณ” มาจนถึงทุกวันนี้ ดังจะเห็นว่าคนภาคอีสาน และภาคเหนือ จนถึงวันนี้ก็ยังมีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับ “ทักษิณ” โดยเฉพาะจากผลพวงของนโยบายประชานิยม และราคาพืชผลการเกษตรทุกอย่างพุ่งสูง จนทำให้คนจนเริ่มลืมตาอ้างปากได้ ขณะเดียวกัน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น นี่คือสิ่งที่ “ทักษิณ” เองก็รู้ดี

แต่เมื่อพูดถึงกรณี “ตากใบ-กรือเซะ” มันคือฝันร้ายของ “ทักษิณ” ที่ตามมาหลอกมาหลอน และเป็นรอยด่างพร้อยในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ “ทักษิณ” ที่ไม่อยากจดจำเช่นกัน

ดังนั้น ไม่แปลก ที่ “ทักษิณ” จะเลือกจำ และพูดแต่ในสิ่งที่ตัวเองมีผลประโยชน์ทางการเมือง ส่วนความผิดพลาด สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ และไม่อยากจำ ง่ายที่สุดที่จะเป็นคำตอบก็คือ “จำไม่ได้” นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น