xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์-ส.ว.” ดันส่งศาลตีความแก้ รธน. พรรคร่วม-ฝ่ายค้านโวยเตะถ่วง ทำขัดแย้งรอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไพบูลย์” จับมือ ส.ว. ดันส่งศาล รธน.ตีความแก้ รธน. พรรคร่วม-ฝ่ายค้านโวยเตะถ่วง จุดชนวนวิกฤตใหม่ “บัญญัติ” ชี้แก้ทั้งฉบับทำมาแล้ว 2 ครั้ง เปล่าประโยชน์ส่งศาล อย่าทำให้ ปชช.รู้สึกยกร่างใหม่ได้เฉพาะรัฐประหาร หวั่นไม่เป็นมงคลกับการเมือง

วันนี้ (9 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วนเรื่องการขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาการทำหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนอ

โดยนายไพบูลย์ชี้แจงถึงการเสนอญัตติดังกล่าวว่า การเสนอญัตติดังกล่าวไม่ได้ต้องการให้การแก้รัฐธรรมนูญล่าช้า แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี ส.ส.ร.เป็นผู้ยกร่าง ซึ่งมีประเด็นกฎหมายว่ารัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ทำได้แค่แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น การที่สมาชิกขอให้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายหลังเสร็จวาระ 3 และผ่านการทำประชามติแล้วนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้จะเสียเงินทำประชามติฟรี 3 พันล้านบาท จึงควรให้เกิดความชัดเจนก่อนถึงการทำประชามติ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ไม่มีมาตรการขอคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้การพิจารณาวาระ 2 ดำเนินการต่อได้ หากไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ลงมติวาระ 3 ต่อ หรือหากขัดรัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนเป็นแก้รายมาตราแทน โดยตั้ง กมธ.ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ส.และ ส.ว.ทำหน้าที่แทน ส.ส.ร. มาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา จะแก้หลายสิบหรือเป็นร้อยมาตราก็ได้ เพื่อเสนอที่ประชุมรัฐสภาต่อไป ใช้เวลาไม่นาน ไม่เสียงบประมาณตั้ง ส.ส.ร. ขอให้สมาชิกลงมติเห็นชอบส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา รวมถึง ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายคัดค้าน เพราะมีเจตนาแอบแฝงเตะถ่วงโดยยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำอย่างถูกต้อง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ สามารถตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับได้และรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้คำสัญญาจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงควรรักษาคำมั่นสัญญาต่อประชาชน ขณะที่ ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว.อภิปรายสนับสนุนให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าทำได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความสบายใจในการลงมติวาระ 2-3

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้รับหลักการร่างแก้ไขมาแล้ว อีกทั้งยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมาธิการกำหนดเวลาแปรญัตติ บัดนี้ดำเนินการถึงขึ้นรอรับการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งชัดเจนมาก แม้มีปัญหาแต่องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่แน่ใจว่าจะเป็นอื่นได้หรือไม่ การนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้นตนคิดว่าทำไปก็คงเปล่าประโยชน์

ส่วนข้อสงสัยว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น อดีตอย่างน้อยทำมาแล้วถึงสองครั้ง คือ ในปี 2491 และปี 2539 ทั้งสองฉบับเป็นการจัดทำขึ้นโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นไม่ได้ให้อำนาจในการจัดทำฉบับใหม่ แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าการทำลักษณะดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ดูจะได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด การกระทำเช่นนี้บ่งบอกชัดว่าทำได้

นายบัญญัติกล่าวต่อว่า มีความพยายามหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 50 ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่น่าใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ตนไม่ได้คิดเช่นนี้ เพราะนี่คือโอกาสที่จะทำใหม่ได้อย่างชอบธรรมครบถ้วน เพราะนอกจากศาลวินิจฉัยว่ายกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจนตนาของรัฐธรรมนูญขณะนั้น แต่ศาลก็ได้วินิจฉัยด้วยว่าการจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สมควรให้มีการทำประชามติสอบถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา เราก็ทำประชามติตามที่ศาลได้กรุณาชี้แนะก็เท่านั้นเอง ซึ่งในชั้น กมธ.ก็ได้ปรับปรุงถ้อยคำเพื่อนำไปจัดทำประชามติตามขั้นตอนครบถ้วน ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลถึงขนาดต้องส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง และไม่แน่ใจว่าการเสนอญัตติที่ได้ร่วมกันพิจารณาในวันนี้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการกำหนดไว้ใน ม.156 แต่ประการใด

“ไม่เห็นถึงความจำเป็นและเหตุผลที่จะต้องเสนอเรื่องเหล่านี้ให้ศาลวินิจฉัย ขณะนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าศาลจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ วันนี้คนมีความหวังว่าเราจะมีรัฐธรรมนุญฉบับใหม่ภายใต้การจัดทำร่วมกันของตัวแทนของประชาชนเองที่ได้รับการเลือกตั้งมา ถ้าความหวังดังกล่าวนี้เป็นอันต้องล่มสลายก็น่าเสียดายว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามคนในประเทศนี้มีความรู้สึกว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก็ตอนรัฐประหารประการเดียวเท่านั้น ประชาชนเจ้าของประเทศไม่มีโอกาสได้จัดทำรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเช่นนั้นความไม่เป็นมงคลก็ย่อมเกิดขึ้นกับระบบการเมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย”

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวว่า รัฐสภาซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจหลักต้องไม่ให้อำนาจอื่นมาวินิจฉัยการใช้อำนาจของตนเอง เราต้องรักษาฐานอำนาจนิติบัญญัติไว้ให้ดีเพื่อคานอำนาจ ถ้ารักษาไม่ได้จะสูญเสียกลไกสำคัญ และนำสู่การล่มสลายของระบบ เราแก้รัฐธรรมนูญเพราะความจำเป็นของประเทศ ไม่ใช่ขององค์กรใด และเป็นอำนาจที่เราทำได้อย่างครบถ้วน การจะอ้างว่า ส.ส.ร.ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เราจะตีความสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ได้ และก็ยังมีการเขียนชัดว่าห้ามแก้หมวด 1 และ 2 แล้วจะว่าถือว่าแก้ทั้งฉบับได้อย่างไร

“ที่ผ่านมาการรักษาอำนาจและอิสระของรัฐสภา จริงๆ ไม่ค่อยมีเพียงพออยู่แล้ว กฎหมายส่วนใหญ่ก็ตั้งมาจากฝ่ายบริหารทั้งสิ้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่สมาชิกจะชักนำสถาบันอื่นมาวินิจฉัยอำนาจเราเอง โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ”

นายนิกรกล่าวว่า การแก้ครั้งนี้เพื่อแก้วิฤตความขัดแย้ง เพราะหลายส่วนรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถตอบปัญหาความต้องการของประชาชนได้ เมื่อเราประกาศให้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำให้ประชาชน เราก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญา และฝ่ายค้านเองก็ยื่นมาให้แก้ไขในหลักการใกล้เคียงกัน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเลย และไม่มีเหตุให้ใครได้คะแนนนิยม และที่อ้างว่าสภามีเจตนาจะแก้ไขเพื่อล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นยืนยันได้ว่าไม่มี เราทำครบถ้วนตามบทบัญญัติปี 60 มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว และเห็นว่ามีปัญหามากมายให้แก้ไขยกเว้น 2 หมวดดังกล่าว แต่มีหลายมาตราเกินกว่าจะแก้ไขเองได้ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ร.มาขัดร้อยเรียงใหม่

“เราไม่เห็นชอบกับญัตตินี้ และมีข้อกังวลว่าจะสร้างความสุ่มเสี่ยงเป็นวิกฤตในสังคมได้หากศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป กลายเป็นรัฐสภาเปิดทางให้องค์กรอื่นเข้ามาขัดขวางการการแก้ปัญหา และนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหม่ จึงไม่ควรเอาเกียรติภูมิความไม้ไว้วางใจของประชาชนไปแลก”

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ กล่าวว่า ตนไม่สบายใจ เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่รวมถึง ส.ส.พลังประชารัฐยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเวลานี้จวนแล้วเสร็จและเตรียมเสนอกลับมารัฐสภาอยู่แล้ว แต่กลับมีญัตินี้ขึ้นมา ตนเคารพความเห็นสมาชิกที่ยื่น และเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุแก้เฉพาะมาตราใด และไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ คงไว้หมวด 1 หมวด 2 จึงมองไม่เห็นว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร อีกทั้งต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน
มีการเดินขบวนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มาจากประชาชน ซึ่งในรัฐสภาก็เห็นชอบ อย่าลืมว่าบ้านเมืองจะไปได้หรือไม่ ต้องเอาความรู้สึกของประชาชนเป็นหลัก จะเอาเหตุผลทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้

“รัฐธรรมนูญปี 60 มีสิ่งที่ดีเยอะ แต่สิ่งที่เกิดในความรู้สึกของประชาชนว่าไม่ได้ร่างโดยประชาชน แต่ร่างโดย ส.ส.ร.ของทหาร ทำให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความเห็นอย่างอิสรเสรี เราจึงจำเป็นต้องยึดความรู้สึกประชาชนเป็นหลัก”

ส่วนความเห็นฝ่ายค้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ทำไมต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดา ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก ไม่ได้ขัดแย้งอะไร เนื่องจากมาตรา 156 (15) ระบุชัดเป็นหน้าที่ของสภา ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่ข้อห้ามในการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่แบบมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง แบบนั้นต่างหากที่ทำไม่ได้

“ขณะที่มาตรา 256 ก็บอกชัดว่าต้องทำตามขั้นตอน แต่หากมีในรายละเอียด เช่น หากมีการแก้หมวด 1-2 ต้องมีการทำประชามติก็ว่ากันไป ดังนั้นวันนี้ไม่ได้ขัดแย้ง เราเดินตามกติกาทุกเรื่อง แล้วจะส่งศาลฯ ทำไม ผมไม่อยากบอกว่ายื้อเวลา แต่คงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์ เราต้องมองประโยชน์ของประชาชน เพราะสภามาจากประชาชน จึงไม่อยากให้โยนภาระนี้ไป โดยเฉพาะการแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. สุดท้ายแล้วก็ต้องทำประชามติ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยคือจบ แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็คือการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน ไม่ต้องถามใครแล้ว ถามประชาชน 70 ล้านคนพอ อย่าให้ความหวังของผู้บริหารประเทศมาขัดใจประชาชน ผมจึงขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนอย่าส่งเรื่องนี้ไปศาลฯ” นายสมคิดกล่าว

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตลอดเวลา1ปีครึ่งที่สภาฯทำงานมา เราเห็นการยื้อเวลา เตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่การตั้งกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้เนื้อหาสาระรูปแบบตนอาจจะไม่พอใจ แต่น่าเสียดายที่กระบวนการที่ควรจะดำเนินการของรัฐสภากับเกิดความไม่แน่นอนขึ้น เพราะเพื่อนสมาชิกจำนวนหนึ่งกลับเห็นว่ารัฐสภาแห่งนี้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนเพื่อประชาชนได้ จนเป็นที่มาที่พวกเราจะต้องมาอภิปรายกันว่ารัฐสภาควรส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

“ผู้ที่เสนอญัตติอาจจะอ้างว่าไม่ต้องการยื้อเวลา ผมเห็นด้วย แต่มันเป็นญัตติที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะนี่คือการหาหนทางตัดทอนอำนาจของรัฐสภา และประชาชน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตลอดกาล เป็นการพยายามแช่แข็งประเทศไทย โดยอ้างว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีบัญญัติไว้ให้กระทำได้ นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติพื้นฐานสามารถกระทำได้ในรัฐสภา การจะทำรัฐธรรมนูญโดยประชาธิปไตยควรเป็นสิทธิ์ที่ได้ยอมรับมากกว่าการทำรัฐธรรมนูญโดยกองทัพ เราจะทำให้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ต้องทำผ่านการรัฐประหารอีกหรือ” นายพิธากล่าว

ทางด้านสมาชิกรัฐสภาฝ่าย ส.ว.ส่วนใหญ่ลูกขึ้นอภิปรายสนับสนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาทิ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปายว่า ส.ว.หลายคนแสดงความกังวลสงสัยในขั้นตอนปฎิบัติ เจตนาเราอยากให้บ้านเมืองสงบสุข รัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายและมีผลทางปฏิบัติ ในชั้นรับหลักการต้องยอมรับว่าทั้งสภาไม่ได้เห็นต้องตรงกัน และมีประชาชนจำนวนมากหลักแสนเข้าชื่อคัดค้าน และมี ส.ว.อภิปรายกังวลในข้อต่างๆ เมื่อรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นชอบรับหลักการทั้งสองร่าง และมีการตั้ง กมธ. ก็มีบรรยากาศร่วมมือร่วมใจแก้ให้ออกมาดี และเตรียมรายงานพร้อมเสนอให้รัฐสภาเพื่อมีมติให้ดำเนินการแก้ไข แต่ ส.ว.มีหน้าที่ช่วยกลั่นกรอง และเพื่อความรอบคอบไม่ให้การแก้ไขนั้นสูญเปล่า อยากให้เกิดความสมบูรณ์ เมื่อมีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ทำไมไม่ให้อำนาจที่มีวินิจฉัยให้เรา เราจะตัดสินเอง โดยใช้เสียงข้างมากไม่ได้

นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการกระทำของเราว่าชอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่ดี ถ้าบอกว่าชอบคนจะได้ทำด้วยความสบายใจ โดยตั้ง ส.ส.ร.ไปร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมีความชอบธรรมใช้ปกครองต่อไป แต่ถ้าไม่ชอบก็อยู่ในขั้นตอนที่ยังไม่สูญเสีย เสียหายก็จะเป็นประโยชน์

“หากเรามีความบริสุทธิ์ใจ เจตนาดีต่อชาติ ไม่เห็นจะแปลกหรือกลัวอะไร ผมจึงขอสนับสนุนให้ยื่นตีความเพื่อจะได้ร่วมกันทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีความชอบที่สุด ถ้ามีขั้นตอนใดต้องตรวจสอบก็ต้องยอมรับการตรวจสอบนั้น”

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐรรมูญเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เกิดขึ้น แต่แก้โดยไม่รู้เนื้อหาจะแก้ได้หรือไม่ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราจะตัดสินใจกันเองไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยต้องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะส่งไปช่วงสุดท้ายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือหากส่งตอนนี้ก็ไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า กระบวนการก็เดินไปตามครรลองอยู่แล้ว เพราะศาลวินิจฉัยแล้วไม่ขัดรัฐธรรมนูญ การแก้ไขก็เดินหน้าอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ หากขัดรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่ต้องไปเสียเงินทำประชามติ แต่หากกระบวนการเดินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการวินิจฉัยจะทำให้เสียเงินนับพันล้านบาท เพราะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ดังนั้น การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกจึงเป็นเรื่องสำคัญสามารถส่งไปได้โดยไม่กระทบต่ออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการส่งให้ศาลก็ไม่ได้เสียหายอะไร อย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าส่งศาลแล้วเป็นการสกัดหรือทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป แสดงว่าเราคิดและห่วงไปเอง

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง ส.ส.ร. แต่ถ้าเราทำให้ชัดเจน ข้อเรียกร้องในปัจจุบัน ข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองปัจุบันเป็นปัญหาทางการเมืองที่ต้องชัดเจน ดังนั้น ความขัดแย้งในบ้านเมืองก็ต้องสร้างความชัดเจนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงเห็นว่าญัตตินี้ได้ประโยชย์มากว่าเสียประโยชน์ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย” นายเสรีกล่าว

หลังจากเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นกันหลากหลายแล้ว ที่ประชุมได้มีการลงมติ 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ จึงต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น