xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมือง-นักวิชาการมองรัฐบาลไปต่อได้ แต่เสียประโยชน์กติกาใหม่อาจยุบสภา ชี้อย่ามองม็อบอ่อนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พตส.จัดเสวนาการเมืองไทยปี 64 ไปต่ออย่างไร นักการเมือง-นักวิชาการมองรัฐบาลไปต่อได้ “จาตุรนต์” แนะแก้ รธน.เป็นความหวังไม่ใช่ความฝัน ชี้รัฐบาลอาจยุบสภาหนีกติกาใหม่หากเสียประโยชน์ “ยุทธพร” ย้ำไม่เห็นม็อบใช่ว่าอ่อนแรง-เคลื่อนไหวโซเชียลฯ คุมยาก

วันนนี้ (5 ก.พ.) นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมือง และการเลือกตั้ง ระดับสูง (พตส.) สำนักงาน กกต. จัดเสวนา หัวข้อ “การเมืองไทยปี 64 ไปต่ออย่างไร” โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เข้าร่วม

นายองอาจกล่าวว่า หากพิจารณาปัจจัยในรัฐบาล แม้พรรคแกนนำรัฐบาลจะมีการแย่งชิงกันในเรื่องการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่เชื่อว่าไม่ใช่ปัญหา การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้การบริหารภายในพรรคแกนนำรัฐบาลเป็นไปได้ดีขึ้น ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย แม้จะมีข่าวขบเกลียวกันจากปัญหารถไฟฟ้า หรือข่าวกับพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาที่จะทำให้เดินต่อไปไม่ได้ ประกอบกับกองทัพเองก็เดินร่วมกับรัฐบาลโดยไม่มีความแตกแยก ขณะที่ปัจจัยภายนอกพรรคฝ่ายค้านก็มีปัญหาขบเกลียวกัน แม้แต่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ควรมีเอกภาพ ก็ยังไม่ขัดเจนว่าจะอภิปราย รมต.คนใด ไม่อภิปราย รมต.คนใด การทำหน้าที่ที่ผ่านมายังไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลจนการเมืองไม่สามารถเดินต่อไปได้ หรือจนกระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว

ส่วนการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มองว่ารัฐบาลไม่ควรใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมเหมือนการระบาดในรอบแรก และเชื่อว่าการระบาดของโควิด-19 จะนำไปสู่แนวทางใหม่ๆ อย่างเช่น การไม่ใช้เงินสด อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ที่หลายประเทศต่างได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน และหลายประเทศมีการประท้วงเพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 แต่เชื่อว่าในส่วนของไทยไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเรายังเป็นสังคมเครือญาติ อุปถัมภ์ จุนเจือพึ่งพาอาศัยกัน

ด้านนายจาตุรนต์กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเกิดกระแสความรู้สึกอยากเปลี่ยนรัฐบาล เพราะเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาในเรื่องของการบริหาร ปกป้องพวกพ้อง และทุจริต นำมาสู่กระแสต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเกิดการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล และล่าสุดก็ได้มีการลงมติให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่การเมืองภายนอกมีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน แต่ต้นปีมีการแพร่ระบาดโควิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้ควบคุมโควิด-19 ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุม แม้จะไม่มีการชุมนุมภายนอกแต่ก็ไม่ทำให้การเมืองสงบร่มรื่น ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องจับตาดูว่าฝ่ายค้านจะมีพยานหลักฐานเด็ดและอภิปรายได้ดีกว่าครั้งที่แล้วหรือไม่ แต่ทั้งนี้ตนไม่เชื่อว่าความขัดแย้งที่เกิดขณะนี้จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคถอนตัว หรือนายกฯ ชิงยุบสภาเพื่อให้ได้เปรียบ หากจะชิงยุบสภาน่าจะเป็นช่วงก่อนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นการหนีกติกาใหม่ที่รัฐบาลเห็นว่าไม่เป็นคุณกับตน

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำให้เป็นความหวัง ไม่ใช่ความฝัน รัฐบาลต้องไม่มีการปิดกั้นผู้เห็นต่าง ต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการร่างฯ ไม่ห้ามแก้ไขในประเด็นที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ ต้องเปิดให้มีการรณรงค์ความเห็นต่างได้ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาแค่เสียงข้างมากซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงผู้ที่ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น เขาจะเห็นด้วย

นอกจากนี้ยังเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของรัฐบาลขณะนี้คือความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดซื้อวัคซีนล่าช้า เวลานี้สหรัฐฯ กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะฉีดให้ประชาชนได้วันละ 2 ล้านโดส แต่ของไทยที่ระบุว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย.ก็ยังไม่มีความชัดเจน แล้วไม่เกิน 6 เดือนหลังจากนี้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มฟื้น ไทยที่ต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ จะทำอย่างไรถ้าประเทศเหล่านั้นเขาประกาศห้ามคนของเขาเดินทางมาไทยเพราะเมืองไทยยังไม่มีการฉีดวัคชีนป้องกันโควิด รวมทั้งเห็นว่ารัฐบาลไทยใช้เงินมากเกินไปในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ทั้งที่ควรจะส่งเสริมการส่งออกหน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเต็มที่ เนื่องจากเรายังมีขีดความสามารถและการส่งออกด้านอื่นๆ เพื่อให้เม็ดเงินจากการส่งออกไม่เป็นตัวฉุดจีดีพีของประเทศ

นายยุทธพรมองว่า การเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง ขณะนี้มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีใครที่การันตีได้ว่าจะผ่านหรือไม่ ซ้ำยังมีขณะนี้ยังข้อถกเถียงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นการเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือบางมาตราเท่านั้น ขณะที่กลไกในสภา ฝ่ายค้านเองก็อ่อนแรงเนื่องจากมีปัญหาภายใน โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ครบ 2 ปีมีเยอะมาก ส่วนการเมืองนอกสภาในขณะนี้มีการเคลื่อนไหวเข้าสู่โลกออนไลน์มากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน รัฐบาลจะมองว่าการชุมนุมอ่อนแรงไม่ได้ เพราะในโลกโซเชียลฯ ข้อมูลที่ถูกส่งต่อมีหลากหลายทั้งจริงเท็จ การควบคุมทำได้ยากจึงไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล








กำลังโหลดความคิดเห็น