เมืองไทย 360 องศา
ก่อนที่การอภิปรายในญัตติ “ซักฟอก” รัฐบาลจะเริ่มขึ้นในกลางเดือนนี้ รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองเรื่องอื่นยังอยู่ในภาวะทรงๆ และต้องรอเวลาไปอีกสักระยะ ก็น่าจะลองหันไปมองสนามเลือกตั้งซ่อมจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 3 ที่กำลังจะ “เชิดฉิ่ง” กันอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว โดยจะเริ่มรับสมัครกันในวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ และกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 7 มีนาคมนี้แล้ว
พิจารณากันแบบไม่ต้องมีข้อมูลอะไรมากนักก็ต้องบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นต่อในฐานะเคยเป็นเจ้าของที่นั่งเดิม เนื่องจากเคยเป็น เก้าอี้ของ นายเทพไท เสนพงศ์ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจาก ส.ส. และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีร่วมกระทำความผิดทุจริตเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ดังกล่าว
ที่ผ่านมา ก็มีการเปิดตัวผู้สมัครคนใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเป็น นายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ น้องชายของ นายเทพไท นั่นเอง
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งซ่อมในสนามดังกล่าวนี้ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เมื่อปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีท่าทีชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า “จะไม่หลีกทางให้” เริ่มจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่พูดอย่างชัดเจนว่า “ผมจะส่ง” แม้วจะบอกว่าให้รอมติพรรคก่อนก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของ ส.ส.และตัวผู้สมัครในพื้นที่แล้ว ก็ชัดเจนตามนั้นคือ “เอาแน่” และดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทราบความเคลื่อนไหวนี้ดี จึงต้องออกมากระตุกกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการทวงถามเรื่อง “มารยาททางการเมือง” ของพรรคร่วมรัฐบาล
โดยพยายามยกเหตุผลในทำนองว่า ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ หลีกทางไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกับผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐทุกครั้ง หากเป็นการเลือกตั้งซ่อมแทน ส.ส.เก่าที่เป็นของพรรคนั้น ถึงขนาด นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.อาวุโสของพรรคออกมาขู่ว่า หากพรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ก็สมควรที่พรรคประชาธิปัตย์พิจารณาถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล
แน่นอนว่า เป็นเพียงแค่คำขู่ธรรมดา ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงพันเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความหวั่นไหว ไม่ต้องการให้พรรคพลังประชารัฐส่งคนลงสมัคร ซึ่งนั่นก็ย่อมมีเหตุผลที่พอเข้าใจได้ ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
เพราะเมื่อพิจารณาจากคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.คราวที่แล้ว แม้ว่า นายเทพไท เสนพงศ์ จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ได้เป็น ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม แต่ขณะเดียวกัน ก็ชนะผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ คือ นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ไปเพียงสองพันกว่าคะแนนเท่านั้น เรียกว่าชนะแบบฉิวเฉียด งานนี้เมื่อได้โอกาสฝ่ายพลังประชารัฐ จึงอยากขอ “ล้างตา” อีกครั้ง
และคราวนี้บรรดา ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ของพรรคพลังประชารัฐ ได้แท็กทีมกับ ส.ส.ภาคใต้ของพรรคทั้งหมด ต่างออกโรงหนุนให้ลงสมัครอีกครั้ง พร้อมกับอ้างเหตุผลในเรื่อง “เพิ่มทางเลือก” ให้กับประชาชน และเห็นว่า ส.ส.ไม่ใช่ตำแหน่งสืบทอดของวงศ์ตระกูล อีกทั้งยังอ้างว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งซ่อม แต่เป็นการ “เลือกตั้งแทน” นั่นคือเลือกตั้งแทนตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลงจากการที่คนเดิมทุจริตเลือกตั้ง ดังนั้น จึงสมควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกใคร
อีกทั้งที่ผ่านมาในหลายพื้นที่เลือกตั้งซ่อมที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างมารยาท หลีกทางให้พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ตั้งแต่ นครปฐม เขต 5 แทน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ชนะผู้มัครจากพรรคประชาธิปัตย์ลงแข่งขันไปขาดลอย หรือกรณีกำแพงเพชร ขอนแก่น ลำปาง ที่ประชาธิปัตย์หลีกทาง แต่หากพิจารณาตามความเป็นจริง ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ “ไม่เคยได้ลุ้น” คะแนนถูกทิ้งขาดมาทั้งสิ้น ต่างกับพื้นที่ นครฯ เขต 3 ที่คะแนนสูสีกันมาก
งานนี้ถึงได้บอกว่าสนุกแน่ เพราะน่าจะแน่ชัดแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ผู้สมัครที่เป็นน้องชายของ นายเทพไท เสนพงศ์ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็น่าจะส่ง นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตผู้สมัครคนเดิมที่เคยแพ้ นายเทพไท ไปหวุดหวิด ขอล้างตาอีก ซึ่งจะทำให้เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดไม่น้อย เนื่องจากในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในอดีตถือว่าเป็นเหมือน“เมืองหลวง”ของพรรคประชาธิปัตย์มาช้านาน แต่ในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐสามารถปักธง ส.ส.ได้ถึง 3 คน แต่จะว่าไปก็ด้วย “กระแสลุงตู่”นั่นแหละ
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผู้สมัครอีกพรรคหนึ่ง คือ พรรคกล้า ของ นายกรณ์ จาติกวณิช ที่ประกาศตัวผู้สมัครเป็นพรรคแรก โดยส่ง นายสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ นักธุรกิจหนุ่มในพื้นที่ลงชิงเก้าอี้ แม้ว่าพิจารณาจากฐานเสียงแล้วน่าจะมีโอกาสน้อย แต่ก็ไม่อาจประมาทได้ เพราะหากมีกลยุทธ์การหาเสียง และนำเสนอแนวทางเข้าตา โดยเฉพาะหากชาวนครฯ อยาก “เปลี่ยนแปลง” มันก็มีโอกาสเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้วงานนี้ถือว่ามีแต่“เสมอตัวกับแพ้”เท่านั้น ไม่มีชนะหรือได้กำไร เพราะหนึ่งเป็นที่นั่งเดิม หากชนะก็ได้เท่าเดิม แต่หากแพ้ก็ถือว่าเสียหายหนัก ไม่ว่าจะแพ้พรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรคกล้า น้องใหม่ก็ตาม มีแต่เสียกับเสียโดยเฉพาะหากพ่ายให้กับพรรคพลังประชารัฐก็ยิ่งทำให้ถูก “รุกคืบ” กินพื้นที่เข้ามามากขึ้น แม้ว่าการเลือกตั้งคราวนี้จะยังไม่ถึงขั้นสร้างรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ถือว่า “มีเคือง” กันไม่น้อย
แต่ที่สำคัญงานนี้จะเป็นการพิสูจน์กระแสทั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ายังแน่นอยู่หรือไม่อีกด้วย !!