กลุ่มการเมืองท้องถิ่น เซ็ง! “มท.- สถ.” เบรก! อปท.จัดงบซื้อวัคซีนโควิด-19 แจกประชาชนในเขตรับผิดชอบ อ้างคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ อำนาจจัดซื้อระยะแรก เฉพาะ “ภาครัฐ” เท่านั้น พ่วงทั้งบริหารจัดการ-กระจาย ตามแผนบริหารจัดการวัคซีน แถมมีอำนาจติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน จึงไม่สามารถให้ภาคเอกชน หรือ อปท.จัดซื้อผู้ผลิตได้โดยตรง
วันนี้ (8 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เรียนเชิญ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็น ตามข้อร้องเรียนของ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้แจ้ง/ผู้ร้องเรียน
ว่าด้วยการบริหารจัดการ และอำนาจตามกฎหมาย โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ในช่วงของสถานการณ์การแพริระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019
โดยข้อหนึ่งของหนังสือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ด่วนที่สุด ที่ ผผ 0802/303 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้แจ้งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย โดยมีประเด็นการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที้มีปริมาณจำกัด ประกอบกับเพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งเกิดความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด
จึงขอให้ สถ. ประชาสัมพันธ์ ให้ภาคเอกชน หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ “ภาครัฐเท่านั้น” ที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนและกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีน
“เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชน หรือ อปท.จัดซื้อวัคซีนปัองกัน โควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง”
ล่าสุด สถ. มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แจ้ง อปท. เรื่องการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และสร้างความเข้าใจกับ อปท. และภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดซื้อ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งนายอำเภอ ทุกอำเภอ เพื่อแจ้งให้รับทราบ
ทั้งนี้ พบว่า ขณะนี้มี อปท.ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ได้อนุมัติจัดงบประมาณจากเงินสะสมของ อปท. เพื่อจัดซื้อแล้ว เช่น เทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี ตั้งงบประมาณ 90 ล้านบาท เทศบาลนครนนทบุรี 260 ล้านบาท เทศบางเมืองแม่ฮ่องสอน ตั้งงบ 10 ล้านบาท
เทศบาลนครปากเกร็ด จัดงบ 240 ล้านบาท เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา 80 ล้านบาท เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ 25 ล้านบาท เทศบาลนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 80 ล้านบาท เทศบาลนครระยอง 65 ล้านบาท เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว 20 ล้านบาทเทศบาลเมืองราชบุรี 200 ล้านบาท
เทศบาลนครขอนแก่น 100 ล้านบาท เทศบาลเมืองยโสธร 20 กว่าล้านบาท เทศบาลเมืองศรีสะเกษ 40 ล้านบาท เทศบาลคลองท่อมใต้ จ.กระบี่ 4 ล้านบาท เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี 130 ล้านบาท เทศบาลนครยะลา 100 ล้านบาท เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 45 ล้านบาท เทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต กว่า 30 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่ล่าสุด พบว่า กลุ่มการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี หลายแห่งมีการกำหนดนโยบายเตรียมจัดซื้อวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ไว้แล้ว