“ประยุทธ์” ประชุมรับข้อคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ของตัวแทนภาคประชาชน เพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
วันนี้ (4 ก.พ.) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะประธานขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน นำตัวแทนภาคประชาชนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย อาทิ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ นายปรีดา บุญเพลิง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคครูไทยเพื่อประชาชน นายเกษม ศุภรานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ นายดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลและสาระสำคัญเกี่ยวกับ (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมหารือด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะครูและบุคลากร เป็นผู้ที่มีคุณค่า อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาเกี่ยวข้องกับหลายส่วนทั้งรัฐบาล ส่วนราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) อาชีวะ เด็ก ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะงบประมาณด้านการศึกษาต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนี้ หลักสูตรและการเรียนการสอน ต้องเพิ่ม active learning ลด passive learning เน้นเรียนรู้ด้วยตนเองผนวกหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นคนดีมีวินัย โครงสร้างการบริหารการศึกษา เน้นการกระจายอำนาจให้สถานศึกษา ให้สถานศึกษาเป็นนิติ ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพสมัยใหม่ อาชีพในศตวรรษที่ 21 ครู ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงด้วย
โอกาสนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวว่า ตัวแทนภาคประชาชนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและสมัชชาเครือข่ายครูฯ เห็นตรงกันให้มีการผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ให้สำเร็จ จึงนำ (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อน ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต ครอบคลุม 5 ประเด็น คือ 1. คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาตลอดจนการศึกษาในอนาคต 2. เอกภาพในการบริหารจัดการศึกษาและธรรมาภิบาล 3. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4. การกระจายอำนาจทางการศึกษาลงไปสู่สถานศึกษา และ 5. นวัตกรรมและเทคโนโลยีและทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่ง นายชินวรณ์ฯ ขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี นำ (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ของภาคเพื่อนครูและภาคประชาชนมา ให้เป็นร่างของ ครม. โดยสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดความสำเร็จต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พร้อมรับข้อเสนอแนะและสาระสำคัญเกี่ยวกับ (ร่าง) พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะประธานขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน นำตัวแทนภาคประชาชนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ เสนอ ไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นายกรัฐมนตรีสรุปในตอนท้ายว่า พ.ร.บ.การศึกษา หรือหลักสูตรเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่ชัดเจนที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะนำความรู้ไปปรับใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงอย่างแท้จริงได้