xs
xsm
sm
md
lg

สะเทือน! “นิพิฏฐ์” เหน็บเจ็บ ขรก.บำนาญ รับเงิน ส.ว.ไม่ตัด “กูรู” ชี้ แก้ระเบียบ “มท.” จบ อย่าซ้ำเติมทุกข์คนชรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ หนึ่งในกรณีคนชราที่ อปท. จะฟ้องดำเนินคดีและเรียกเงินคืน จากแฟ้ม
“เรียกคืนเบี้ยคนชรา” แก้ปัญหาไม่คิดถึงหัวอกคนจน “นิพิฏฐ์” เหน็บเจ็บ ที ขรก.บำนาญ ถูกตั้งเป็น ส.ว. เงินเดือนนับแสนไม่ตัด “กูรู” ชี้ทางสว่าง แก้ระเบียบ มท.จบ! อย่าซ้ำเติมทุกขเวทนา “ศ.วิชา” ยกคำตัดสินศาลฎีกา "อปท." ไม่มีสิทธิฟ้อง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (31 ม.ค. 64) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง “เงินคนแก่ (2)” โดยระบุว่า

“สิทธิของมนุษย์บางเรื่องมันเป็นสิทธิตามธรรมชาติ มันติดตัวมา ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนสิทธินั้นก็ติดตามตัว ความแก่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าคุณอยู่เมืองไทย หรืออเมริกา ถ้าคุณอายุ 60 มันก็ 60 อยู่นั่นแหละ เงินผู้สูงอายุ มันเป็นเงินที่ได้ตามสิทธิ เพราะคุณเป็นคนแก่ พอคุณแก่รัฐก็ให้เงินตอบแทนความแก่คุณเดือนละ 600 บาท

ภาพ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากแฟ้ม
สมมติว่า คนแก่นั้นอายุ 62 ปี ได้เงินคนแก่มาแล้ว 2 ปี แต่ต่อมาลูกตายในสงคราม คนแก่นั้นก็ได้รับเงินสงเคราะห์ที่เกิดจากความตายของลูกในหน้าที่ราชการ สมมติว่า ได้เดือนละ 5,000 บาท แต่พอได้เงินจากความตายของลูกเดือนละ 5,000 บาท กลับไปตัดเงินคนแก่ที่เขาเคยได้มาเดือนละ 600 บาท ทั้งที่สิทธิในการรับเงินมันคนละสิทธิกัน

ผมสมมติใหม่ ถ้าข้าราชการเกษียณแล้ว ได้บำนาญเดือนละ 40,000 บาท แต่ข้าราชการคนนั้นได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. ได้เงินเดือนอีกเดือนละ 100,000 บาท เข้าไปในสภานั่งหลับๆ ตื่นๆ เขาก็รับเงินเดือน 2 ทางนะครับ รัฐไม่ได้ตัดบำนาญเขา แต่พอคนแก่ได้เงินสงเคราะห์เดือนละ 600 พอลูกตายในหน้าที่ ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐสมมติว่าเดือนละ 5,000 บาท กลับไปตัดเงินคนแก่เขาเดือนละ 600 บาท

“โถๆๆๆ วิธีการคิดอย่างนี้ นี่แหละครับ คือ การคิดของระบบราชการ ท่าน ส.ส.นอกจากไปงานบวช งานศพ งานแต่งแล้ว ก็ควรทำ ควรพูด เรื่องอย่างนี้ด้วย ผมนี่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาหรอก วันนี้ขอเสือกเรื่องของ ส.ส.ท่านหน่อย ท่าน ส.ส.อย่าด่าผมก็แล้วกัน เพราะผมยังไม่ได้ยินท่าน ส.ส.คนไหนพูดเรื่องนี้ในสภาเลยสักคน”

ภาพ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ขอบคุณภาพจากไทยโพสต์
ขณะเดียวกัน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับ ทางออกปัญหาเรียกคืนเบี้ยคนชรา ว่า

“กรณีที่มีข่าวเรื่องการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากผู้สูงอายุจำนวนมากในหลายๆ จังหวัด เนื่องจากผู้สูงอายุเหล่านี้ได้รับเงินบำนาญพิเศษจากการที่บุคคลในครอบครัวที่รับราชการเสียชีวิตไป หรือจากการที่ตนเองทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก ซึ่งจนถึงขณะนี้กระทรวงมหาดไทยคาดว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศที่จะต้องถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเงินคนชราประมาณ 15,000 คน จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่บรรดาผู้สูงอายุจำนวนมากนั้น

ขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการถึงข้อสังเกตและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้

1. คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องเงินหลวงที่จ่ายไปโดยผู้รับไม่มีสิทธิ หากผู้รับสุจริต มีทั้งที่วินิจฉัยว่า เป็นลาภมิควรได้ ให้คืนเท่าที่เหลืออยู่ และที่วินิจฉัยว่า เป็นการติดตามเอาทรัพย์คืน ต้องคืนทั้งหมด คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องเงินที่หน่วยงานราชการจ่ายไปโดยผู้รับเงินไม่มีสิทธิได้รับโดยชอบ หากผู้รับเงินสุจริต มีทั้งที่วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่ใช่เรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืน ให้คืนเฉพาะเงินที่เหลืออยู่ขณะเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 412 ที่บัญญัติให้บุคคลที่รับทรัพย์สินไว้เป็นลาภมิควรได้โดยสุจริต ต้องคืนทรัพย์นั้นเฉพาะที่ยังเหลืออยู่ขณะที่เรียกคืน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559) และที่วินิจฉัยว่า เป็นเรื่องติดตามเอาทรัพย์หรือเงินคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ เพราะไม่ได้ก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้รับเงินไว้โดยไม่ชอบต้องคืนเงินนั้นทั้งหมด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2558, 4617/2562)

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้รับเงินเบี้ยหวัดที่ไม่สุจริตเพราะปกปิดข้อมูล หากหน่วยงานราชการประสงค์จะฟ้องเรียกเอาเงินเบี้ยหวัดคืน ก็เป็นเรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืนเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ เพราะเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการจ่ายเงินสวัสดิการตามกฎระเบียบของทางราชการไม่ใช่จ่ายเงินเพื่อชำระหนี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2561 (ประชุมใหญ่)

ประเด็นเรื่องเงินที่หน่วยงานราชการจ่ายไปโดยผู้รับเงินไม่มีสิทธิได้รับไว้โดยชอบนี้ หากในภายหน้ามีคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาอีก ก็มีความน่าสนใจว่า ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางใด สำหรับนักกฎหมายแล้ว ความเห็นในเรื่องนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นเรื่องลาภมิควรได้ และอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นเรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืน ซึ่งผลตามกฎหมายมีความแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

2. ให้ผู้สูงอายุที่สุจริตคืนเงิน ภาระ ความเดือดร้อนที่ตามมา สมควรหรือไม่

ผู้สูงอายุที่ยื่นคําขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุน่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่ออก และไม่ทราบระเบียบของราชการว่า ห้ามรับเงินคนชราซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ และมีข้อน่าพิจารณาว่า ขณะที่ผู้สูงอายุลงชื่อและยื่นคำขอรับเงิน เจ้าหน้าที่ได้สอบถามหรือได้อธิบายให้ผู้สูงอายุทราบเกี่ยวกับระเบียบและข้อห้ามแล้วหรือยัง และหากจะมีการเรียกเงินคนชราคืนจากผู้สูงอายุที่รับเงินไปโดยสุจริตซึ่งไม่ทราบถึงระเบียบที่ห้ามรับเงินซ้ำซ้อน โดยมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ถูกเรียกเงินคืนย้อนหลังไปร่วม 10 ปี จำนวนเงินที่จะต้องคืนย่อมเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สร้างภาระความเดือดร้อนและความทุกข์ใจแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

ส่วนหากจะไปกล่าวโทษว่า เป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปจ่ายเงินซ้ำซ้อนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ ต้องไปดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ก็คงเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และคงต้องมีการตรวจสอบย้อนหลังไปเป็น 10 ปี เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อย บางส่วนก็น่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว และอาจจะทำให้ปัญหาขยายวงกว้างออกไป

3. การแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้มีสิทธิรับเงิน น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่าหรือไม่

เดิมทีเดียวระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ไม่ได้กำหนดข้อห้ามว่า ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องไม่เป็นผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อห้ามดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยมากำหนดในภายหลังไว้ในข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพิจารณาจากความสูงอายุของผู้มีสิทธิได้รับเงิน การได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่การจ่ายเงินบํานาญพิเศษพิจารณาจากการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวที่รับราชการ หรือการทุพพลภาพของข้าราชการจากการปฏิบัติหน้าที่ การได้รับเงินบำนาญพิเศษจึงเป็นสิทธิพิเศษเพิ่มเติมที่แยกต่างหากจากสิทธิส่วนบุคคลที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินทั้ง 2 ประเภทนี้จึงไม่น่าจะซ้ำซ้อนกัน ซึ่งผู้สูงอายุน่าจะควรได้รับเงินทั้ง 2 ประเภทนี้ไปพร้อมๆ กันได้

จึงมีข้อน่าพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินคนชราซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ ด้วยการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถึงแม้จะได้รับเงินบำนาญพิเศษอยู่แล้ว และให้ระเบียบที่แก้ไขนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงผู้สูงอายุที่สุจริตซึ่งได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควบคู่ไปกับเงินบำนาญพิเศษก่อนระเบียบใช้บังคับด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยผู้ออกระเบียบนี้ย่อมมีอำนาจแก้ไขระเบียบได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องการเงิน การคลัง และงบประมาณ จึงควรต้องให้กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังร่วมพิจารณาในรายละเอียดและให้ความเห็นชอบในการแก้ไขระเบียบนี้ และอาจจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย

4. ควรงดการเรียกร้องเอาเงินคืนและไม่ควรมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้สูงอายุ

หากภาครัฐมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา ไม่อยากซ้ำเติมสร้างภาระความเดือดร้อนให้แก่ผู้สูงอายุที่สุจริต ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีฐานะยากจน ควรจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศงดการเรียกร้องให้ผู้สูงอายุจ่ายเงินคืนไปก่อน และภาครัฐควรรีบดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น การแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่ผู้สูงอายุได้รับที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐคงไม่อาจปฏิเสธการมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ควรฟ้องร้องดำเนินคดีผู้สูงอายุเพื่อเรียกร้องเอาเงินคืนในระหว่างนี้ เนื่องจากจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสร้างความเดือดร้อนให้ผู้สูงอายุยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุซึ่งมีฐานะยากจนและไม่มีความรู้ทางกฎหมาย เพราะการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนอกจากจะนำมาซึ่งความวิตกกังวล ความทุกข์ใจ ให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีในศาลและภาระในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ จำนวนมากตามมาอีก

ประการที่สำคัญ การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม ควรเป็นไปเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ไม่ควรเป็นไปเพื่อเติมเชื้อไฟแห่งความไม่เป็นธรรม ด้วยการซ้ำเติมความเดือดร้อนแก่ผู้สูงอายุที่สุจริตซึ่งกำลังทุกข์ยากลำบาก

5. ภาครัฐควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

ภาครัฐควรกำหนดแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญพิเศษซ้ำซ้อนกัน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ถือปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินการต่อปัญหาและการแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งดำเนินการอย่างหนึ่ง ขณะที่ในอีกจังหวัดหนึ่งดำเนินการอีกอย่าง แตกต่างกันไป เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการปฏิบัติและในการดำเนินการต่อปัญหาที่เกิดขึ้น” (จากไทยโพสต์)

ภาพ ศ.วิชา มหาคุณ จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ (28 ม.ค. 64) ศ.วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และอดีต ปธ. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมาย กรณี บอส กระทิงแดง ยกคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 ซึ่งได้วินิจฉัยอย่างชัดเจน และจะเป็นบรรทัดฐานที่ต้องยึดถือปฏิบัติ

กล่าวคือ กรณี อปท. จะฟ้องดำเนินคดีและเรียกเงินคืนกับ นางบวน โล่สุวรรณ อายุ 89 ปี เบี้ยเงินคนชรา 84,000 บาท ชาวบ้าน ต.ดีเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ และ นางสำฤทธิ์ ภู่สว่าง อายุ 83 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.จอหอ อ .เมือง นครราชสีมาจำนวนเงิน 83,383 บาท อันเป็นเบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับค่าครองชีพทั้งที่ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามสิทธิจากคู่สมรส หรือบุตรที่เป็นข้าราชการซึ่งเสียชีวิตไปก่อนแล้วนั้น ซึ่งเป็นการจ่ายโดยผิดหลง ของ องค์กรปกครองท้องถิ่น จึงเข้ากรณีลาภมิควรได้

ดังนั้น แม้ผู้สูงอายุ ที่รับเงินไว้ จะไม่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพอีก แต่เมื่อรับไว้โดยสุจริต และใช้เงินนั้นหมดแล้วก่อนที่จะถูกเรียกคืน ทางองค์กรปกครองท้องถิ่นที่จ่ายไป ก็ไม่มีสิทธิติดตามเรียกเงินค่าครองชีพคืนได้ และผู้สูงอายุนั้น ก็ไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ โดยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้วางหลักไว้ชัดเจนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามกฎหมาย แต่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้จำเลยไปโดยผิดหลง จึงเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ หาใช่เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิ์ติดตามเอาคืนได้อย่างเจ้าของทรัพย์สินไม่

และเมื่อได้ความว่า จำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412

แน่นอน, ฟังจาก ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด จะเห็นได้ชัดว่า ปัญหาไม่ได้ลึกลับซ้อนซ้อนแต่อย่างใด และแก้ได้ง่ายอีกด้วย โดยต้นเรื่องคือ กระทรวงมหาดไทย เสนอแก้ไขระเบียบของตัวเอง เท่านั้นก็จบ

แล้วถ้าจะว่าไป สิทธิทั้งสองส่วน ทั้งสิทธิในเงินบำนาญพิเศษ และสิทธิในเงินเบี้ยคนชรา ในมุมของนักกฎหมาย ก็ไม่ได้ซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด ไม่ใช่เรื่องที่จะถูกปิดกั้นแต่อย่างใด กลายเป็นว่า ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ไปปิดกั้นเอง

ที่สำคัญ เงินเบี้ยยังชีพคนชรา ก็ไม่ได้มากมายก่ายกอง จนจะทำให้รัฐบาลเจ๊งในปีสองปีนี้ และยังเป็นเงินส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพราะมีการจับจ่ายใช้สอยทุกบาททุกสตางค์ ดีกว่าเงินที่รัฐบาลเอื้อให้คนรวย แล้วไปอยู่ในกระเป๋าเศรษฐี ไม่กี่ตระกูล ที่น้อยมากที่จะกระจายการใช้จ่าย

เหนืออื่นใด คนที่รับเบี้ยยังชีพคนชราในประเทศไทย รัฐบาล ส.ส. ส.ว. ข้าราชการทั่วประเทศ น่าจะรู้อยู่แก่ใจดีว่า ส่วนใหญ่คือ “คนจน” และส่วนหนึ่งที่จน ก็เพราะการบริหารประเทศที่ไม่เอาไหนของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจนกระทั่งปัจจุบัน

แค่แก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ให้เขาได้สิทธิโดยไม่ซ้ำซ้อน และไม่ต้องนอนอยู่บนกองทุกขเวทนา อย่างที่เป็นอยู่ ถ้าทำไม่ได้ คนชราทั่วประเทศ ก็อาจเขียนบันทึกติดข้างฝาเอาไว้เลยก็เป็นได้ ว่า ทีใครทีมัน!?


กำลังโหลดความคิดเห็น