“ส.ว.สถิตย์” เสนอเพิ่มบทบาทประกันภัย ทั้งมิติด้านการคลังภาครัฐ ให้ประชาชนเข้าถึงประกันสุขภาพ ประกันว่างงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมโอนความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายสวัสดิการไปให้บริษัทประกัน มิติด้านสังคม ให้ธุรกิจประกันมีส่วนร่วมประกันพืชผล บริหารความเสี่ยงด้านแหล้งน้ำ และมิติทางเทคโนโลยี ควรนำบล็อกเชนเข้ามาเสริม
วันอังคารที่ 26 มกราคม 2564 ในการประชุมวุฒิสภา วาระการพิจารณาศึกษา เรื่องบทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 โดยเข้ามาทำหน้าที่แทนกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารภาครัฐในธุรกิจที่มีการแข่งขันและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก โดยได้แยกบทบาทออกเป็น 3 ส่วน คือ บทบาทด้านนโยบาย (policy maker) กำกับดูแล (regulator) และผู้ประกอบการ (operator) เดิมกรมการประกันภัย ทำหน้าที่ทั้งด้านนโยบาย และกำกับดูแล เมื่อมีพระราชบัญญัติฯ ใหม่แล้ว จึงได้แยกบทบาทด้านนโยบาย และการกำกับดูแลออกจากกัน โดย ด้านนโยบายได้โอนไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจภาคการเงิน ส่วนการกำกับดูแลเป็นหน้าที่ของ คปภ.
ส.ว.สถิตย์ได้ให้ข้อสังเกตและความเห็นต่อบทบาทในการประกันภัย ดังนี้ 1. มิติด้านการคลังภาครัฐ เศรษฐกิจเสรีนิยม มีผลทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีนั้น จำเป็นต้องนำแนวคิดเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ต้องการให้ทุกคนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดช่วงอายุขัยมาปรับใช้ หลายประเทศจึงได้ดำเนินนโยบายที่เรียกว่าสังคมสวัสดิการ (social welfare) หรือรัฐสวัสดิการ (state welfare) ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสวัสดิการประชาชน ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ทั้งในด้านสุขภาพ การว่างงาน การมีบำนาญ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามรูปแบบสวัสดิการที่หลากหลายมากขึ้นและการเข้ามาของสังคมสูงวัย ธุรกิจประกันภัยสามารถมีบทบาทเชื่อมโยงกับบทบาทการคลังภาครัฐในเรื่องนี้ได้ 2 แนวทาง คือ
แนวทางแรก การให้สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของประชาชน ที่ภาคธุรกิจประกันภัยดำเนินการ เช่น การประกันสุขภาพ การประกันการว่างงาน การประกันแบบบำนาญ เป็นต้น ควรมีการศึกษาอุปสรรค์ และการสร้างแรงจูงใจ ให้การประกันเช่นว่านี้เป็นที่นิยมและเข้าถึงในวงกว้างมากขึ้น
แนวทางที่ 2 ควรมีการศึกษานโยบายในการให้ภาครัฐโอนความเสี่ยงการใช้จ่ายด้านสวัสดิการให้กับบริษัทประกัน โดยการจัดทำงบประมาณสำหรับการทำประกันกับบริษัทประกัน แทนการตั้งงบประมาณใช้จ่ายในด้านสวัสดิการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การบริหารการคลังภาครัฐมีความแน่นอนและยั่งยืนมากขึ้น
2. มิติด้านสังคม การประกอบธุรกิจประกันภัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประกันภัยพืชผล เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกร ในระหว่างการเพาะปลูก โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งชดเชยค่าประกันภัยให้กับเกษตรกร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นับว่าเป็นก้าวสำคัญของบทบาทการประกอบธุรกิจประกันภัยต่อสังคมเกษตรกรรม คปภ.ยังได้มีโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อบริหารความเสี่ยงให้มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร ซึ่ง คปภ.ควรจะส่งเสริมให้บริษัทประกันฯ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการขยายโครงการนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เป็นเรื่องที่ดีที่ คปภ.มีโครงการส่งเสริมความรู้ด้านประกันฯ (insurance literacy) และควรเร่งขยายการให้ความรอบรู้ด้านนี้ให้มากขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการประกันภัยมากขึ้น
3. มิติด้านเทคโนโลยี ในขณะที่ภาคการเงินโดยรวมกำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีทางการเงิน (fintech) การประกันภัยก็ย่างเข้าสู่เทคโนโลยีการประกัน (insurtech) คปภ.เริ่มต้นได้ดีด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) เข้ามาใช้ในการถามตอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย รวมทั้งตรวจสอบสถานะการประกันของผู้เอาประกัน แทนที่การตรวจสอบด้วยเอกสาร ซึ่งใช้เวลามากและบางครั้งไม่ครบถ้วน คปภ.ยังได้จัดทำแอปพลิเคชัน (application) เพื่อให้การตรวจสอบความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุมีความรวดเร็วและเชื่อมโยงทั้งผู้เอาประกัน บริษัทประกัน และตำรวจ เพื่อให้กระบวนการในการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ รวดเร็วขึ้น ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย อย่างไรก็ตาม คปภ.น่าที่จะศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นระบบกระจายการบันทึกข้อมูลบนคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องในเวลาเดียวกัน (distributed ledger technology : DLT) อันจะเป็นการเติมเต็มเทคโนโลยีการประกัน (insurtech) ที่ คปภ.ได้เริ่มต้นไว้แล้วเป็นอย่างดี