xs
xsm
sm
md
lg

กสม.เผย SCA มีมติเลื่อนพิจารณาผลประเมินสถานะจาก B เป็น A ไปอีก 18 เดือน เหตุกังวลหน้าที่ กสม.ตาม รธน.ลดทอนความเป็นอิสระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผย SCA มีมติเลื่อนพิจารณาผลประเมินสถานะจาก B เป็น A ไปอีก 18 เดือน เหตุกังวลหน้าที่ กสม.ตาม รธน. ลดทอนความเป็นอิสระ วอนฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
วันนี้ (22 ม.ค.) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ กสม.ได้ดำเนินการเข้ารับการประเมินเพื่อขอเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 61 และได้เข้ารับการสัมภาษณ์แบบทางไกลเพื่อประกอบการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation : SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 นั้น เลขานุการคณะอนุกรรมการ SCA ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาว่า SCA มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการประเมินสถานะของ กสม. ไทยออกไปเป็นเวลา 18 เดือน ซึ่งจากการหารือทางไกลกับนาย Phillip Wardle ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของเครือข่ายความร่วมมือสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยืนยันกับตนว่า การเลื่อนการพิจารณานั้น ถือเป็นท่าทีที่เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมาของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก ที่ขอเข้าประเมินเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในสถานการณ์ เช่น กสม. เพราะ SCA ได้พิจารณาถึงการดำเนินงานในช่วงหลังของ กสม. รวมถึงการตอบข้อข้องใจหลายประการของ SCA เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กสม. ในระหว่างการสัมภาษณ์ นาย Wardle แจ้งว่า การเลื่อนการพิจารณาออกไปก็เพื่อให้ กสม. ได้มีโอกาสดำเนินการแก้ไขข้อห่วงกังวลบางประเด็นของ SCA เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันและประสิทธิผลตามหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หลักการปารีสมากยิ่งขึ้น

“นาย Wardle แจ้งเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป คือ หน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 247(4) ที่กำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏว่า มีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว SCA จึงกังวลว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะลดทอนความเป็นอิสระที่แท้จริงหรือที่สาธารณะรับรู้ ดังนั้น ในระยะเวลา 18 เดือน SCA หวังว่า กสม. จะได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่จะให้มีการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว”

นางประกายรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า SCA ยังเห็นว่า บทบาทของ กสม. ในการไกล่เกลี่ย หาก กสม. สามารถแสวงหาข้อยุติที่เป็นมิตรและเป็นความลับผ่านกระบวนการแก้ไขทางเลือกอื่น ซึ่งรวมถึงอำนาจในการแสวงหาข้อยุติของข้อพิพาทโดยสมานฉันท์ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย จะช่วยให้ กสม. ได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงานของ กสม.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กสม. เคยแสดงความกังวลและมีหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า บทบัญญัติตามมาตรา 247(4) อาจไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส แต่ไม่ประสบผล แต่ทั้งนี้ ก่อนการให้สัมภาษณ์กับ SCA และหลังจากทราบความเห็นของ SCA ก็ได้มีการติดต่อประสานงานไปยังฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในระดับต่างๆ เพื่อให้ได้รับทราบร่วมกันถึงข้อห่วงกังวลของสากล เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้ กสม. ซึ่งเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถคืนกลับสู่สถานะ A โดยการยกเลิกมาตรา 247(4) อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในประเทศและสังคมโลกในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.

“กสม. ชุดปัจจุบันเป็นชุดรักษาการตามรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งดิฉันในฐานะผู้ทำหน้าที่แทนประธาน กสม.พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดที่จะให้ กสม. กลับคืนสู่สถานะ A และปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ชุดใหม่ จึงหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้รีบดำเนินการ และหลังจากที่ กสม. ชุดรักษาการพ้นหน้าที่ไปแล้ว อยากฝากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กสม.ชุดใหม่ ที่เชื่อว่าจะได้มาโดยไม่ล่าช้า ช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนในความเป็นอิสระขององค์กรโดยเร็ว เพราะแม้ SCA จะเลื่อนการพิจารณาออกไปอีก 18 เดือน แต่องค์กรต้องส่งเอกสารสำหรับการพิจารณาให้กับ SCA ใหม่ ภายในเดือน ต.ค.ปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น