รมว.ศึกษาธิการ ย่องเงียบขึ้นหลังตึกไทยฯ พบ “นายกฯ” ท่ามกลางกระแสข่าวดัน “เมีย” ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แข่ง “บิ๊กแป๊ะ” เผยคุย “บิ๊กป้อม” แล้ว โยน พปชร.ตัดสินใจผู้สมัครเอง ไม่เอาการเมืองท้องถิ่น ปัญหาขัดแย้งในพรรค ลั่นไม่จริงต่อรองไม่ได้ลาออก ยอมรับห้ามเมียไม่ได้
วันนี้ (22 ม.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยขึ้นด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า ใช้เวลานั่งรอประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเข้าพบหารือใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นนายณัฏฐพล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นางทยา ทีปสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยปฏิเสธว่า นายกฯไม่ได้เรียกมาพูดคุยเรื่องดังกล่าว ซึ่งการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ของภรรยา เป็นการเสนอตัวให้ประชาชนคนกรุงเทพฯเลือกแค่นั้น ไม่ได้มีอะไร เพียงแสดงเจตจำนงสนใจที่จะเป็นตัวเลือก ส่วนแผนงานที่จะทำให้ได้รับการเลือกก็ต้องมานั่งดูว่าจะไปทางไหน สำหรับตนมีความเป็นพรรคอยู่ ก็ต้องระมัดระวังในการที่จะขับเคลื่อน เพราะมีเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องระมัดระวังพอสมควร
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรค พปชร.แล้วหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ก็เรียน ในเมื่อคนในครอบครัวเสนอตัวตนก็ต้องเรียนผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อขออนุญาต ถือเป็นมารยาททางการเมือง ส่วนความเหมาะสมที่พรรคจะเลือกใครก็เป็นเรื่องของพรรค เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทางการเมืองโดยตรง พรรคก็ต้องมองถึงผลประโยชน์ของพรรคสูงสุดว่าใครจะลงในนามพรรคหรือไม่ลงในนามพรรค จะเป็นประโยชน์สูงสุดของพรรคของประเทศ
เมื่อถามต่อว่า ช่วงที่ผ่านมา มีชื่อของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประกาศลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อย่างชัดเจน ซึ่งสังคมมองว่า พรรค พปชร.ให้การสนับสนุนจะเป็นการแย่งคะแนนกันหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ถ้าเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน การสนับสนุนเป็นการพูดกันในสื่อมวลชนเฉยๆ พรรคยังไม่ได้มีการประชุม ซึ่งจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการสรรหา การเลือกตั้งขนาดใหญ่แบบนี้พรรคจะต้องมีกระบวนการสรรหาหรือกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) อาจจะมองว่ามีความเสี่ยงเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใหญ่ถูกจับตามองเยอะจะเป็นปัญหาในการตีความอะไรต่างๆ ไม่อยากเอาการบริหารจัดการประเทศมาเกี่ยวข้องกับการที่จะมีปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ก็อาจจะไปทางออกเหมือนกับที่หัวหน้าพรรคได้พูดไว้ในเรื่องการไม่ส่งใครลงสมัครในนามของพรรค เหมือนกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นแนวทางที่น่าจะพอมองเห็นแนวทาง
เมื่อถามย้ำว่า นางทยา ในฐานะที่เป็นภรรยาของท่าน ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีจะทำอย่างไรให้สังคมไม่มองว่ามีความเกี่ยวโยงเอื้อประโยชน์กัน และจะขัดกับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาตรา 34 นายณัฏฐพล กล่าวว่า ถ้าภรรยาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จริง จนก็คงไปหาเสียงไม่ได้ อันนี้เป็นปกติ ส่วนจะไปห้ามคนๆ หนึ่งไม่ให้เสนอเป็นตัวแทนประชาชนในขณะที่เขาเป็นนักการเมืองและทำงานการเมืองมา และถ้าดูกันจริงๆ ตนก็ทำงานแยกกันมาตลอดในด้านท้องถิ่นหรือระดับชาติ ฉะนั้น เป็นสิ่งที่ต้องดูถึงพื้นฐานด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ ตนจะผลักดันภรรยามาเป็นนักการเมือง มันไม่ใช่ แต่เข้าเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว แค่บังเอิญอยู่ในครอบครัวเดียวกันเท่านั้น และใน กทม.ก็อาจจะมีครอบครัวแบบนี้ไม่ได้เยอะมาก
เมื่อถามอีกว่า ยืนยันว่า ถึงอย่างไรภรรยาก็ยังเสนอตัวที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใช่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า เขาตัดสินใจที่จะเสนอตัวลงแน่นอน ส่วนจะลงในนามอิสระใช่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ต้องดูทีมของนางทยา เพราะเขาทำงานมีทีมวิเคราะห์ถึงเรื่องต่างๆ โอกาสในการที่จะต่อสู้นโยบาย นางทยามีวิธีการบริหารจัดการ ไม่ได้มาผูกพันกับตนเลย
เมื่อถามอีกว่า แสดงว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะลงในนามอิสระหรือในนามพรรค นายณัฏฐพล กล่าวว่า ในเรื่องของพรรค ถ้าเป็นพรรค พปชร.วันนี้ไม่ได้เกี่ยวกัน ทางพรรคเขาจะต้องดูความเหมาะสม และวิธีการของพรรคในการสรรหาผู้สมัคร กทม. ทางคณะกรรมการบริหารและกรรมการสรรหาจะเป็นผู้กำหนดว่าจะสรรหาอย่างไร ซึ่งยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เราเป็นพรรคการเมืองใหญ่ต้องมีขั้นตอนในการพิจารณาพอสมควร การที่คนใดคนหนึ่งบังเอิญเป็นภรรยา อย่างกรณีของตนที่มีการเสนอตัวมาขึ้นอยู่กับว่าทางพรรคจะพิจารณาอย่างไร
เมื่อถามต่อว่า มีกระแสข่าวว่าพร้อมที่จะลาออก ถ้าพรรค พปชร.ไม่สนับสนุนภรรยาลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายณัฏฐพล กล่าวว่า ไม่ใช่ ไม่จริงและดูในข่าวมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ตนอยู่ในพรรค พปชร.ต้องเคารพในกติกาของพรรค ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงมารยาทในทางการเมือง ต้องรอความชัดเจนของกรรมการสรรหาพรรคว่าจะพิจารณาอย่างไรหรือจะพิจารณาใคร ซึ่งอาจจะมีการพิจารณานางทยาด้วย หากพรรคตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง ตนก็ต้องดูความเหมาะสมในเรื่องของมารยาท ขณะเดียวกัน ความปลอดภัยของพรรคเราจะไม่เอาการแข่งขันในระดับใดมาเป็นความเสี่ยงหรือทำให้เกิดปัญหากับพรรคอย่างแน่นอน
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรค พปชร.แล้วหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ได้พูดคุยกันแล้วเป็นการเตรียมของอนุญาต ซึ่งเป็นมารยาที่ต้องทำ เพราะภรรยาของตนเองที่เป็นนักการเมืองสนใจเสนอตัวเป็นผู้สมัครลงผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ว่าอะไร ก็รับทราบ
เมื่อถามว่า จะทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า คงไม่ น่าจะคิดกันไปเองให้เป็นประเด็น ส่วนในพรรคจะมีความเห็นหรือความเหมาะสมว่าใครควรจะลงในระดับท้องถิ่นก็เป็นความแตกแยกที่ปกติอยู่แล้วในการเสนอตัวของผู้สมัครทุกระดับก็ต้องมีมากกว่า 1 คน แต่พรรคก็ต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ แล้วตนไม่ได้อยากจะพูดอะไรมาก อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นพรรคการเมืองสามารถสนับสนุนได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการหาเสียงต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะมาเกี่ยวข้อง แม้แต่การสรรหาตัวผู้สมัครทางพรรคก็พิจารณาว่าจะสรรหาอย่างไร แต่พรรค พปชร.เลือกตั้งที่จะไม่สนับสนุนใครเลยในการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่นเดียวกับการเลือกนายก อบจ. ผู้ว่าฯ กทม.แนวทางก็ไม่ได้แตกต่าง
“ข่าว 2 วันที่ผ่านมา อาจมีความผิดเพี้ยนในบางเรื่อง แต่นางทยาตัดสินใจเสนอเป็นตัวเลือกในการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็แค่นั้น นั้นคือเรื่องใหญ่สุด ส่วนหลังจากนั้น จะมาเกี่ยวข้องกับพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคจะต้องมาพิจารณาเรื่องความเหมาะสมเขาตั้งใจที่จะทำงานเพื่อการเมือง คงไปห้ามไม่ได้ ผมเป็นสามียังห้ามไม่ได้” นายณัฐพล กล่าว