เมืองไทย 360 องศา
น่าจะชัดเจนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่า พรรคพลังประชารัฐจะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยเป็นท่าทีที่ออกมาจากปากของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่ย้ำให้เห็นแบบต่อเนื่องกันสองสามวันแล้ว โดยล่าสุด ก็เมื่อวันที่ 21 มกราคม เมื่อถูกถามถึงเรื่องการส่งผู้สมัครดังกล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อ้างถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 34 ที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่มีตำแหน่งทางการเมือง โดยย้ำว่าจะยึดแนวทางเดียวกับเมื่อครั้งการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่า จะต้องมีการประชุมพรรคกันอีกครั้ง ซึ่งยังไม่ได้กำหนดเวลา อีกทั้งยังเป็นช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงค่อยว่ากันอีกครั้ง
นั่นเป็นคำพูดที่อ้างเหตุผลในทางเปิดเผย ซึ่งอาจไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงก็ได้ บางครั้งอาจมีเหตุผลในทางการเมือง และมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายอย่างที่ไม่อาจพูดออกมาตรงๆ ก็เป็นได้
ที่ผ่านมา หากมองย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ส่งผู้สมัครในนามพรรคแม้แต่คนเดียว แม้ว่าจะรับรู้กันดีว่ามีหลายคนที่เป็นคนของพรรค หรือเชื่อมโยงกับคนในพรรคอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นการลงสมัครแบบอิสระ และจากการเลือกตั้งดังกล่าว ก็ไม่ส่งผลกระทบกับพรรคมากนัก ที่สำคัญไม่ได้เห็นภาพของความแตกแยกขัดแย้งกันภายในพรรค ต่างกับบางพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย ที่แม้ว่าจะมีเหตุผลอื่นประกอบ แต่ก็เกิดความขัดแย้งรุนแรง ร้าวลึกจนยากประสานมาจนถึงวันนี้
เมื่อวกมาที่สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดเวลาออกมาว่าจะเป็นเมื่อใด แต่คาดว่าคงอีกไม่นานหลังจากนี้ อาจจะหลังการเลือกตั้งในระดับเทศบาลที่กำลังมีขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในราวปลายปีนี้ ก็ได้
แม้ว่าสำหรับพรรคพลังประชารัฐที่มีแนวโน้มเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่า จะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในนามพรรค เนื่องจากเกรงในเรื่องการทำผิดกฎหมายตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคได้อ้างเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงในทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่า อาจเป็นเพราะพรรคมีตัวเลือกหลายคน ที่ไม่อาจตัดใจไปทางใดทางหนึ่งได้หรือเปล่า
ต้องยอมรับว่า เวลานี้มีผู้ที่แสดงท่าทีให้เห็นชัดแล้วว่า “พร้อมจะลงสมัคร” นั่นคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาในทำนองว่า “พร้อมรับใช้ประชาชนทุกวัน”
นอกจากนี้ ยังมีรายอื่นที่ประกาศเปิดตัวไปล่วงหน้านานแล้ว คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ลาออกจากพรรคเพื่อไทย มาลงสมัครในนามอิสระ รวมไปถึง น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.ที่จะลงสมัครในนามอิสระเช่นเดียวกัน ยังไม่นับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล รวมไปถึงพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ต่างต้องการชิงตำแหน่งดังกล่าว สำหรับเป็นฐานทางการเมืองสำคัญในระดับชาติต่อไป
แน่นอนว่า สำหรับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แม้ว่าในที่สุดแล้วจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.หรือเปล่า รวมไปถึงจะลงในนามอิสระหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ชวนติดตาม เนื่องจากยังมีเวลาให้ตัดสินใจ แต่ที่ผ่านมา ถือว่าทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มายาวนาน โดย พล.ต.อ.อัศวิน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ ด้วยคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2559
ที่น่าจับตาก็คือ มีรายงานข่าวยังไม่ยืนยันว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในสายกรุงเทพฯ พยายามผลักดันภรรยาของตัวเอง คือ นางทยา ทีปสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ลงสมัครชิงเก้าอี้ตัวนี้ในนามพรรคอีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้ มันก็พอเห็นภาพของการล็อบบี้ ผลักดันเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การลงสมัครในนามพรรคนี้ กับการลงสมัครในนามอิสระสำหรับสนามเมืองหลวงในบรรยากาศปัจจุบันจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันแน่
แต่เอาเป็นว่าสำหรับพรรคพลังประชารัฐ การอ้างเหตุผลที่อาจไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคว่า เป็นเพราะเกรงจะผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นตาม มาตรา 34 ก็อาจจะจริง แต่ขณะเดียวกัน หากส่งผู้สมัครแล้วเกิดพ่ายแพ้หมดรูป รวมไปถึงทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน เนื่องจากเป็นคนของคนนั้นคนนี้ เกิดภาพความน้อยใจ ได้ไม่คุ้มเสีย สู้ไม่ส่งสมัคร แต่อาจให้การสนับสนุนในทางลับ “แทงกั๊ก” กับทุกคนที่เล็งเห็นผลว่ามีแนวโน้มจะได้รับชัยชนะไม่ดีกว่าหรือ
แนวทางหลังน่าจะ “วิน วิน” ทุกฝ่าย !!