xs
xsm
sm
md
lg

สันนิบาตเทศบาลฯ วอน กกต.เลื่อนเลือกตั้งฯ อ้างกระทบกระบวนการ “สภาท้องถิ่น” จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 แจก ปชช.ในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สันนิบาตเทศบาลฯ วอน กกต.ทบทวนเลื่อนเลือกตั้งนายกเล็ก-ส.ท.ทั่วประเทศ ตามกรอบเดิม อ้างคนท้องถิ่นต้องเข้าถึงวัคซีนแก้โควิด-19 ก่อน หวั่นเสียโอกาสได้รับวัคซีนโดยเร็ว หางโผล่! โยง “ปลัดเทศบาล” อาจถูกจำกัดอำนาจ หวั่นไม่มีอำนาจตัดสินใจจัดทำงบประมาณจัดหาวัคซีน แบ่งเบาภาระงบประมาณรัฐบาล ย้ำหากใช้เกณฑ์เดียวกับเลือกตั้ง อบจ.ก็มีปัญหา

วันนี้ (18 ม.ค.) มีรายงานว่า สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่มีนายกเทศมนตรีและสมาชิกเทศบาลทุกระดับเป็นสมาชิก มีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. ลงนามโดย น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เพื่อเสนอให้ทบทวนการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) และนายกเทศมนตรี โดยอ้างเหตุผลหลักต่อข้อกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่ดี โดยพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน โดยอาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย หรือเมื่อประชาชนไรัรับวัคซีนแล้วอย่างทั่วถึง

ขณะที่เหตุผลอื่น หนังสือที่ส่งถึง กกต.อ้างถึงจำนวนประชาชนที่อาจไม่ไปใช้สิทธิน้อยจากความเสี่ยงต่อโรค แม้จะมีการคัดกรองก่อนเข้าคูหา ขณะที่บางพื้นที่มีการระบาดไม่เท่ากันและมีมาตรการที่แตกต่างกัน อาจเกิดปัญหาในเรื่องของการเดินทางไปใช้สิทธิในพื้นที่ที่ต้องมีการกักตัว 14 วันในพิ้นที่ที่มีการระบาด

“ประชาชนอาจเลือกที่จะไม่ไปใช้สิทธิ เท่ากับจะทำให้ผู้มีสิทธิเสียสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และหากมีการร้องเรียนให้เลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ จะก่อให้เกิดปัญหาได้”

ขณะเดียวกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะเทศบาลขนาดใหญ่ที่มีประชากรและผู้มีสิทธิจำนวนมาก เป็นพื้นที่แพร่ระบาดโรคได้ง่ายกว่าเขตนอกเมืองหรือชนบท ดังนั้น การกำหนดหน่วยเลือกตั้งจำนวนมาก ซึ่งหากยึดการจัดหน่วยเลือกตั้งเช่นเดียวกับการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายก อบจ. ที่ กกต.กำหนดหน่วยฯ หนึ่งให้มีผู้มีสิทธิ 600 คน ยิ่งต้องเพิ่มหน่วยฯ อีกร้อยละ 30-40 รวมถีงจะเป็นการเพิ่มภาระให้เทศบาลและประชาชนโดยไม่จำเป็น

หนังสือฉบับนี้ยังอ้างถึงการหมดอำนาจของสมาชิกเทศบาลในวันประกาศ ที่ กกต.ระบุไว้ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 เพราะบางครั้งต้องใช้อำนาจการบริหารเชิงอำนาจอย่างรอบคอบ แต่ “ปลัดเทศบาล” ที่ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีถูกจำกัดอำนาจไว้โดยกฎหมาย ประกอบกับไม่มี “สภาเทศบาล” ที่จะช่วยกลั่นกรองตัดสินใจให้รอบคอบในเรื่องที่สำคัญ ปลัดอาจไม่กล้าตัดสินใจภายใต้สถานการณ์วิกฤต

“เช่นกรณีที่ปรากฏผ่านสื่อว่าหลายเทศบาลประสงค์จะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อฉีดให้ประชาชนในพื้นที่โดยใช้งบประมาณของเทศบาลเอง ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขก็สนับสนุนกับแนวคิดนี้ และเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบและอนุมัติของสภาเทศบาลก่อน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับวัคซีนโดยเร็ว และหากมองในภาพรวมประเทศก็ยิ่งทำให้การกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนล่าช้าออกไป และความคาดหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศภายหลังที่ประชาชนได้รับวัคซีนก็ยังล่าช้าออกไป” หนังสือถึง กกต.ฉบับนี้ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น