ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ดรามาไฟลุก ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเชียว 104 บาท แพงจริงหรือ?
เป็นเรื่องเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียลฯ เมื่อกรุงเทพมหานครประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีผลวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ โดยเก็บตามระยะทางสถานีละ 3 บาท สูงสุดตลอดสายไม่เกิน104 บาท
เรียกว่า สถานการณ์รัฐบาลลุงตู่ “ความบ่อนโควิดยังไม่ทันหาย ความค่ารถไฟฟ้า 104 บาท กำลังเข้ามาแทรก”
เมื่อ 104 บาท กลายเป็นดรามา โซเชียลฯก็ถามไถ่กัน อันว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้า 104 บาทตลอดสาย แพงไปมั้ย ?
อย่างแรก แพงไปหรือไม่ ดูกันที่ตรงไหน เรื่องนี้มีชาวเน็ตวิเคราะห์ คำนวณเปรียบ การใช้จ่าย "ค่าเดินทาง" ของคนกรุง หากต้องเดินทางจากต้นทาง-ปลายทาง จาก "คูคต-เคหะสมุทรปราการ" ตลอดสาย ที่ถ้าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจ่าย104 บาท ทั่งหมด 46 สถานีใช้เวลาราวๆ 2ชั่วโมง เทียบด้วยบริการขนส่งอื่นๆ เช่น แท็กซี่ ใช้บริการแกร็บไบค์ แกร็บคาร์ วินมอเตอร์ไซต์ รถตู้โดยสาร ไปจนถึงรถเมล์ จะเห็นได้ว่าราคาบางชนิดขนส่งอาจจะถูกกว่าโดยสารรถไฟฟ้าจริง แต่ก็ใช้เวลาเดินทางนานกว่า ที่ใช้เวลาสั้นกว่า แต่ราคาก็โหดกว่า 104 บาท (ลองดูที่อินโฟฯ เปรียบเทียบ) ซึ่งหากประหยัดจริงๆ ก็ต้องใช้วิธีเดินเท้า ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ระยะทาง 48 กิโลเมตร เดินกันครึ่งค่อนวันเป็น10 ชั่วโมงไปนู่น
ประเด็นนี้ ก็มีการวิเคราะห์กันว่าทำได้ ซึ่งมีทางเลือก หรือคิดเป็นประมาณ 65 บาทตลอดสายเท่านั้น ตามที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้
แต่อัตราค่าโดยสารนี้ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องไฟเขียวให้ กทม.ต่อสัมปทานให้บีทีเอส ออกไป 30 ปี เพื่อแลกกับอัตราค่าโดยสารที่ถูกลงดังกล่าว พร้อมกับภาระหนี้ ที่ต้องแบกแทน กทม.หรือไม่
ลองคำนวณกันเล่นๆ ได้เลยว่า ถ้าค่าโดยสารรถไฟฟ้าหากเป็น 65 บาท เทียบกับเดินทางด้วยรถเมล์ที่ว่าถูกที่สุดแล้ว (70บาท) ด้วยระยะทาง 48 กิโลเมตร ถ้าเลือกขึ้นรถไฟฟ้า เทียบกม.ต่อกม. และเวลาเร็วขึ้นชั่วโมงกว่า แทบจะพูดได้ว่า ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์กทม. ที่ขนส่งมวลชน นั่งรถไฟฟ้าจะถูกกว่า นั่งรถเมล์ !!
สรุปดรามาได้ว่า ราคาค่าโดยสาร 104 บาทตลอดสาย ถามถึงความคุ้มค่าก็น่าจะได้คำตอบ เลือกกันได้ จะโดยสารวิธีไหนที่จะเซฟเวลา เซฟเงินที่จ่าย แต่หากนายกฯลุงตู่ กล้ากดปุ่ม ครม. ให้อนุมัติ การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ราคาค่าโดยสารสาย 65 บาท และเงื่อนไขที่ บีทีเอส แบกรับภาระหนี้ 1 แสนล้านบาท ที่กทม. ต้องจ่ายคืนรฟม. ซึ่งเป็นแนวทางที่ "ลุงตู่" สมัยเป็น หัวหน้าคสช. ใช้ มาตรา 44 สั่งให้กทม.ไปดำเนินการ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ ประชาชนมากขึ้นไปอีก โดยที่ไม่ต้องถกเถียงกัน
ดรามาเรื่องนี้ จึงน่าสนใจว่า สุดท้ายลุงจะตัดสินใจอย่างไร.. ต้องติดตามอย่ากระพริบตา !!
** พุทธิพงษ์ สยบดรามา“หมอชนะ”จากทีมอาสามาสู่รัฐดูแล ตัดการขอข้อมูลบุคคล-ให้ใช้ง่าย-ได้ผล
วันก่อนโลกโซเชียลฯ วิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ หลังจากเฟซบุ๊กทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team แจ้งข่าว ทีมอาสาสมัครผู้พัฒนาแอปฯ Code for Publicขอวางมือ ถอนตัวจากการจัดทำแอปฯ “หมอชนะ”ที่ใช้ในการควบคุมโรค COVID-19พร้อมเปลี่ยนสถานะแอปฯ โดยโอนให้รัฐดูแล
ว่ากันว่า การถอนตัวของทีมอาสา มาจากความไม่พอใจที่ถูก "ล้วงลูก" จากบุคคลระดับสูงในกระทรวงดีอีเอส รัฐที่อยากจะดึงแอปฯ มาคุมเอง และ กรมบางกรมที่เกี่ยวข้องใส่ "เกียร์ว่าง" ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนสถานะการติดเชื้อของคนไข้เพื่อการควบคุมโรค
พลันที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็ทำให้เกิด "ดรามา" หวั่นกันว่าเมื่อแอปฯ"หมอชนะ" อยู่ในมือรัฐ จะทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ปลอดภัย ในโลกโซเซียลฯ จึงชักชวนกันให้ถอนการติดตั้งแอปฯหมอชนะ
งานนี้ "พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงต้องออกโรงสยบดรามา
ก่อนอื่นเรื่องที่เกิดขึ้น กลุ่มผู้พัฒนาแอปฯ “หมอชนะ”ได้แก่ กลุ่ม Code For Publicและกลุ่มทีมงานอาสา หมอชนะ Mor Chana Volunteer Team ได้มีการส่งต่อ “หมอชนะ”จากกลุ่มอาสาสมัคร มาสู่การกำกับดูแลจากทางรัฐบาลอย่างเต็มตัวแล้วตามที่เข้าใจกัน
เบื้องหลังการโอนมาสู่มือรัฐ เพราะเมื่อโควิดระบาดระลอกใหม่ แอปฯหมอชนะ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้รับมือ ทำให้ปริมาณผู้ใช้งานจากประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีความกังวลเรื่อง "ข้อมูลส่วนบุคคล" เช่น ชื่อ เบอร์โทร. ในการลงทะเบียนกับแอปฯ
ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ให้ผู้พัฒนาปรับปรุงแอปฯ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนั้นยังตัดฟังก์ชั่นการทำงานของแอปฯ หมอชนะออกหลายจุด เพื่อให้ใช้งานง่าย และไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล ของประชาชน
นั่นจึงเป็น "ดรามา" ว่ารัฐล้วงลูก !!!
ว่าไปแล้ว จุดเริ่มของการพัฒนาแอปฯ หมอชนะ ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่ การแพร่ระบาดโควิด เมื่อปีที่แล้วซึ่งอาสาสมัครร่วมมือกันอยากให้มีแอปฯ ในลักษณะติดตามตัวผู้ใช้งาน เพื่อมาช่วยในการควบคุมการระบาด โดย ดีอีเอส ได้ตรวจสอบแล้วว่า มีความมั่นคงปลอดภัยและไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้ให้การรับรอง และมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เป็นผู้ดูแล และสนับสนุนพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในคลาวด์ ของ สพร. รวมทั้งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลมาตรวจสอบด้วย ซึ่งแอปฯ หมอชนะ ได้มีการใช้งานแล้วในกลุ่มภาคเอกชน บริษัท โรงงานต่างๆ มาระยะหนึ่ง
ฉะนั้น การนำแอปฯ"หมอชนะ" มาให้ประชาชนใช้ ก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ทีมอาสา และรัฐบาล หลังมอบแอปฯนี้ ให้รัฐบาลนำไปใช้งานแล้ว กลุ่มอาสา ก็ยังให้การสนับสนุนการใช้งานของรัฐบาลต่อ เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น
สรุปว่า คีย์สำคัญของการปรับแอปฯหมอชนะ อยู่ที่เมื่อรัฐให้คำมั่นเรื่องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ที่ประชาชนกังวลได้ ทีมอาสาสมัครผู้พัฒนาแอปฯ ยังให้การสนับสนุน การดาวน์โหลด "หมอชนะ" มาใช้ย่อมดีต่อทุกฝ่ายในยามที่วันนี้โควิด ยังอาการน่าเป็นห่วง
เรียกว่า ตัดกังวลเรื่องขอข้อมูลส่วนบุคคล -ขั้นตอนยุ่งๆ ให้แอปฯเข้าถึงง่าย-ใช้งานได้ผล
เอาเป็นว่า คนได้ประโยชน์คือผู้ใช้ ดรามาครานี้ ก็น่าจะจบด้วยประการฉะนี้