xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เพิ่มเงินนักเรียนยากจน ม.ปลาย-อาชีวะ ปีละ 9,100 อนุมัติหลักการเจ้าภาพ RoboCup 2022

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติหลักการไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 พร้อมไฟเขียวเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ ม.ปลาย-อาชีวะ รับเงินเพิ่มสูงสุดอีกปีละ 6,100 บาท เป็น 9,100 บาท 
วันนี้ (12 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ใช้กรอบงบประมาณวงเงิน 20 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ การจัดการแข่งขันRoboCup แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอายุไม่เกิน 19 ปี หรือ RoboCup Junior League และกลุ่มอายุ 19 ปีขึ้นไป หรือ RoboCup Major League, ส่วน Exhibition เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และส่วนแสดงวัฒนธรรมไทย, ส่วน Symposium เป็นการนำเสนอแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดยนักวิชาการด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติที่มีชื่อเสียงระดับโลก และส่วนStartup Pitching เป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ได้เข้ามามีโอกาสในการนำเสนอนวัตกรรมการประดิษฐ์ของตนต่อกลุ่มผู้ลงทุน

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานนี้นั้น ประกอบด้วย 1. การเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรและเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับสากล 2. เสริมสร้างพัฒนาการวิจัย และการต่อยอดงานวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงและร่วมมือระหว่างประเทศ 3. เป็นการเชื่อมโยงและสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รวมถึงแสดงศักยภาพของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล และ 4. เกิดการลงทุนระหว่างประเทศจากอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังเผยว่า ครม.เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 รวมวงเงินทั้งสิ้น 7,635.67 ล้านบาท ประกอบด้วย 9 แผนงาน ได้แก่ นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาวงเงิน 364 ล้านบาท, ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพนักเรียนวงเงิน 4,847.52 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมการพัฒนาครูและสถานศึกษาวงเงิน 459.15 ล้านบาท, พัฒนากลไกจังหวัดและระบบช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษาวงเงิน 386 ล้านบาท, สร้างต้นแบบระบบการผลิตและพัฒนาครูวงเงิน 298.73 ล้านบาท, สร้างนวัตกรรมสายอาชีพสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูง และพัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาสวงเงิน 856.44 ล้านบาท, สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์วงเงิน 39.20 ล้านบาท, งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและระดมความร่วมมือทางสังคมวงเงิน 68.50 ล้านบาท และงานด้านการบริหารและพัฒนาระบบงานวงเงิน 316.13 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้เห็นชอบให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข(ทุนเสมอภาค) โดย กสศ.ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้ลดลงและเกิดการว่างงาน ประกอบกับผลวิเคราะห์จากโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ มีข้อเสนอว่า อัตราเงินทุนเสมอภาคในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษ ดังนั้นจึงเห็นควรให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน และป้องกันความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาว

สำหรับอัตราเงินอุดหนุนใหม่มีดังนี้คือ ระดับอนุบาล อัตราเดิม 4,000 บาทต่อปียังคงจ่ายเท่าเดิม ระดับประถมศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 5,100 บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 2,100 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 4,500บาทต่อปี เพิ่มขึ้น 1,500 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา อัตราเดิม 3,000 บาทต่อปี อัตราใหม่ 9,100 บาท เพิ่มขึ้น 6,100 บาท ซึ่งตามนิยามของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ จะหมายถึงนักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ PMT หรือ Proxy Means Testจากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น