xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภชัย” ซัด “นิพิฏฐ์” เข้าใจผิด “อนุทิน” แค่เสนอให้ช่วยกันคิดกรณีคนข้ามแดนพาโควิดเข้าไทย ยันไม่ปฏิเสธการรักษา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ซัด “นิพิฏฐ์” เข้าใจผิดบิดเบือน ยัน “อนุทิน” แค่เสนอให้ช่วยกันคิดกรณีคนข้ามแดนนำโรคติดต่อเข้ามาในประเทศไทย ยืนยันไม่มีการปฏิเสธการรักษา แต่ภาระค่าใช้จ่ายผู้กระทำความผิด ละเมิดกฎหมายต้องรับผิดชอบ

วันนี้ (12 ม.ค.) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณาสุข ได้มีความเห็นเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ข้ามแดนเข้ามาไม่ว่าจะเป็นคนงานต่างด้าวและผู้เล่นการพนัน นั้นและมีการแสดงความคิดเห็นกันมากมายทางสื่อมวลชนและทางโซเชียลมีเดีย โดยประเด็นนายอนุทินเสนอคือให้ช่วยกันคิด ช่วยกันดู มาตรา 41 และ 42 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ใช่ “รักษา” หรือ “ไม่รักษา” แต่กฎหมาย กำหนดให้ รมว.สาธารณสุข ผู้รักษากฎหมาย ต้องปฏิบัติ ซึ่งประเด็นมาตรา 41 และ 42 คือ คนข้ามแดน นำโรคติดต่อระหว่างประเทศเข้ามาในประเทศ กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้จะให้ละเว้นกฎหมายก็ต้องมีการประกาศให้ชัด ว่าสิ่งที่นายอนุทินได้เสนอก็คือที่เรียกว่าประเด็นชวนคิด โดยมีความเห็นชัดเจนว่าผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าคนไทย หรือคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยย้ำชัดเจนว่า “ไม่มีการปฏิเสธการรักษา" แต่ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ผู้กระทำความผิด ละเมิดกฎหมาย ลักลอบข้ามแดน หรือนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค มีกฎหมายบัญญัติไว้อยู่แล้ว

นายศุภชัยกล่าวต่อวา วันนี้กระทรวงสาธารณสุขมีภาระค่าใช้จ่ายต้องตรวจรักษาผู้ลักลอบข้ามแดนทั้งคนไทย และคนต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งก็คืองบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน และเงินกู้ที่คนไทยต้องชดใช้นั่นเอง คำถามคือเมื่อมีปัญหาภาระงบประมาณเกิดขึ้น ดังนั้น นายอนุทินซึ่งเป็นรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารควรจะปฏิบัติอย่างไร โดยสิ่งที่นายอนุทินเสนอก็คือ 1. ยินดีรับฟังความเห็นต่าง แต่ขอให้เสนอทางออกด้วย 2. กฎหมายมีอยู่ 3. หาแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย 4. กรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กำหนดแนวทาง 5. กรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ยังไม่เคยทำเพราะไม่เคยมีเหตุเช่นนี้ จึงเสนอให้ตั้งอนุกรรมการมาพิจารณา ตามกฎหมายกำหนด 6. ถ้ารัฐบาลมีเงินมาก จ่ายได้ โดยประชาชนไม่เดือดร้อนก็ไม่เป็นไร กรรมการโรคติดต่อก็อาจจะเสนอให้รัฐบาลรับภาระทั้งหมด และในการแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่อยู่ในชั้นกฤษฎีกา อาจแก้กฎหมายให้ตัดข้อความนี้ออกก็ได้เพื่อจะได้ไม่เป็นประเด็นให้ต้องนำมาปฏิบัติ 7. เสนอด้วยเจตนาที่ดี คิดถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

“มีคนเปรียบกับขับรถชนคนตาย คนขับบาดเจ็บ รัฐรักษาฟรีหรือไม่ คำตอบคือฟรี เพราะไม่มีกฎหมายให้เป็นภาระค่าใช้จ่าย แต่กฎหมายโรคติดต่อกำหนดให้เป็นความรับผิดของผู้นำเข้ามา ไม่ใช่ไร้มนุษยธรรม อำนาจนิยม หรือ ทำให้คนป่วยหลบหนี ไม่ร่วมมือการควบคุมโรคความจริงที่รู้กันดีก็คือคนทำผิด เขาไม่ให้ความร่วมมือมาแต่ต้นอยู่แล้วจึงเกิดการระบาดรอบนี้ขึ้นอีก ด่านปิดมาเป็นปีก็ลักลอบออกไปแล้วติดเชื้อกลับมา นี่คือประเด็นที่เสนอให้ช่วยกันคิดโดยเจตนาดี ซึ่งชัดเจน แต่กลับมีบางคนเข้าใจผิดหรือบิดเบือนไป” นายศุภชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น