วันที่ 29 พ.ย.63 เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดย รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ กรรมาธิการฯ และคณะ ได้เดินทางประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยมีนายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายพิจิตร บุญทัน และนายธนูสินธุ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวรายงานข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีพื้นที่รวม 1,975,902 ไร่ ประชากร 378,583 คน อำนาจเจริญมี 7 อำเภอ 56 ตำบล 607 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 64 แห่ง มีพื้นที่การเกษตร 1,400,000 ไร่ คิดเป็น 70.85 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดในจำนวนนี้มีพื้นที่ชลประทาน 124,232 ไร่ หรือ 8.80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด ปริมาณน้ำที่เก็บกักตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันรวม 131.04198 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำที่ยังขาด 445.818 ล้านลูกบาศก์เมตร สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คือพื้นที่ลุ่มน้ำมีศักยภาพต่ำในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ บางพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ บุ่ง ทาม จึงประสบปัญหาในเรื่องน้ำท่วมขัง ท่วมซ้ำซาก การปลูกพืชและการใช้น้ำไม่สอดคล้องกับพื้นที่ แหล่งกักเก็บน้ำยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน
คณะกรรมาธิการได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนว่าควรนำแนวคิดใหม่ และนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาน้ำทั้งในระดับชุมชน และระดับครัวเรือน โดยการนำรูปแบบ ๑๐ แนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเองมาใช้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ให้กับทางผู้ร่วมประชุมได้รับทราบ โดยเน้นไปที่การจัดทำร่องดินเติมน้ำ และการจัดสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์สำหรับชะลอและกักเก็บน้ำใน 14 ลุ่มน้ำภายในจังหวัด โดยเฉพาะลุ่มน้ำเซบายและลุ่มน้ำเซบก ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงก่อนไหลลงสู่ทะเล
นอกจากนี้ กมธ.ยังได้เสนอแนะให้จัดทำระบบผันน้ำในแม่น้ำมูลสวนแรงโน้มถ่วงเข้าไปเก็บกักในลุ่มน้ำต่างๆซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากด้วยระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี และไม่เสียน้ำต้นทุนไปโดยเปล่าประโยชน์
จากนั้นเวลา 14.00 น. ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร ไร่ภูตะวันออแกนิก ฟาร์ม บ้านหนองเม็ก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ได้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเกษตรขึ้น ทั้งกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านหนองเม็กและศูนย์เรียนรู้ผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตรไร่ภูตะวันออแกรนิคฟาร์ม ที่ประสบความสำเร็จสร้างรายได้ และชื่อเสียงให้กับสมาชิกในกลุ่ม ในฐานะเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของจังหวัดอำนาจเจริญ
แต่ปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรยังคงประสบอยู่คือเรื่องของการขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก และต้นทุนด้านพลังงานที่มีราคาแพงเกินไป เพื่อหาทางออกให้แก่ปัญหาข้างต้น ทางคณะกรรมาธิการได้เสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่สมาชิกและคนในชุมชนได้รับทราบ เพื่อให้ชุมชนสามารถเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรกรรม อุปโภค-บริโภค ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
“ผมพบว่าจังหวัดอำนาจเจริญไม่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆของประเทศไทยในแง่ที่มีปริมาณน้ำฝนที่ตกโดยเฉลี่ยสูงมากเกินกว่าความต้องการที่จะใช้ได้ในฤดูฝน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการขาดความรู้ที่จะเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ให้ได้ตลอดทั้งปีเท่านั้นเองเพราะฉะนั้นสิ่งที่กมธ. เสนอแนะให้แก่ท่านผู้ว่าและพี่น้องเกษตรกรคือการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์และการทำแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำทั้งในทุกลุ่มน้ำ ทุกลำน้ำและตามห้วยหนองคลองบึงที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เราเชื่อมั่นว่าหากทางจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและพี่น้องชุมชนหันมาส่งเสริมการทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่มีหลักคิดว่าต้องสร้างแหล่งน้ำให้แล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 1-15 วันต่อโครงการ ใช้งบประมาณต่ำ ใช้ทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เกษตรกรสามารถใช้และจัดการเทคโนโลยีได้ด้วยตนเอง และที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และมีน้ำใช้อย่างยั่งยืนด้วย ผมคิดว่าแนวทางการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กคือคำตอบที่คนอำนาจเจริญจะมีน้ำใช้อย่างพอเพียงตลอดทั้งปี รวมทั้งยังสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
“ผมประทับใจท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและรองผู้ว่าราชการทั้งสองท่านที่สนใจและกระตือรือร้นมากในเรื่องการจัดการน้ำให้แก่พี่น้องเกษตรกรรวมถึงท่านนายกอบต. เราได้พูดคุยกันถึงการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์บนพื้นที่เป็นหิน ซึ่งเคยมีความพยายามที่จะทำ แต่ไม่สำเร็จ ผมรับปากว่าเรายินดีมาให้คำแนะนำในการสร้างฝายแกนซอยและจะสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะเรามีประสบการณ์ในการทำฝายในลักษณะนี้มาแล้วที่จังหวัดขอนแก่น ที่สำคัญคือท่านผู้ว่ากับผมเห็นตรงกันว่าเราจะต้องเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดและจะปล่อยให้น้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้น้อยที่สุดครับ”นายสังศิต กล่าว